สำหรับวินเซนต์ แวนโก๊ะ สีเหลือง คือ ความสุข
และสีเหลืองก็เป็นสีโปรดของจิตรกรชาวดัชต์ผู้เลื่องชื่อคนนี้
ภาพดอกทานตะวันสีเหลืองสด ลายเส้นคมชัดแปลกตา น่าจะเป็นหนึ่งในผลงานที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายๆ คน หากเอ่ยถึง ฟินเซนต์ วิลเลิม ฟาน โค หรือ ‘วินเซนต์ แวน โก๊ะ’ จิตรกรชาวดัชต์แห่งยุคอิมเพรสชั่นนิส ผู้กลายเป็น หนึ่งในศิลปินที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก
แม้แวนโก๊ะจะชอบถ่ายทอดเรื่องราวความเศร้า ความเหงาและความโดดเดี่ยวลงบนภาพวาดสีอึมครึมอยู่เสมอ แต่ซีรีส์ ภาพดอกทานตะวัน ชุด ‘Sunflowers’ กลับเป็นหนึ่งในไม่กี่ภาพที่แตกต่างออกไป เพราะมันได้เล่าถึงช่วงชีวิตที่สดใส และมีความสุขที่สุดช่วงหนึ่งของศิลปินหนุ่ม ผู้ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยภาวะซึมเศร้าในวัยเพียง 37 ปี
The Paris Sunflowers ภาพวาดดอกทานตะวันชุดแรกของแวนโก๊ะ
แวนโก๊ะมักจะสอดแทรกรูปทานตะวัน ดอกไม้ที่เขาชื่นชอบที่สุดไว้ในงานวาดของเขาอยู่บ่อยๆ แต่ภาพชุด The Paris Sunflowers กลับเป็นภาพชุดแรกที่เขาวาดดอกทานตะวันอย่างจริงจังหลังจากวาดภาพมาได้หลายสิบปี ถึงแม้ชุดภาพ นี้อาจไม่ใช่ภาพของดอกทานตะวันที่คุ้นตานักหากเอ่ยถึงชื่อจิตรกรอย่างแวนโก๊ะ แต่เขาก็ใช้เวลาถึง 2 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1886-1888 ระหว่างที่อาศัยอยู่กับน้องชายธีโอ ที่กรุงปารีส ฝึกวาดภาดสีน้ำมันของดอกทางตะวันที่วางกองอยู่บนพื้น จนได้ภาพวาดที่เขาภูมิใจมาถึง 5 ชิ้น
Photo Credit : https://www.mentalfloss.com/article/501953/15-facts-about-vincent-van-goghs-sunflowers
Photo Credit : https://www.vangoghgallery.com/painting/sunflowerindex.html
The Arles Sunflowers ภาพดอกทานตะวันแห่งมิตรภาพและความสุข
“ความตั้งใจของฉันคือการทำงานในสตูดิโอแห่งนี้กับโกแก็ง ฉันเลยต้องหาอะไรมาตกแต่งห้องของฉันเสียหน่อย และ แน่นอนว่ามันจะต้องเป็นทานตะวันดอกยักษ์เท่านั้น”
นี่คือส่วนหนึ่งของข้อความที่แวนโก๊ะส่งหาน้องชายของเขาหลังจากย้ายมาอาศัยอยู่ที่เมืองอาร์ลส์ ประเทศฝรั่งเศสในปี ต่อมา
จิตรกรหนุ่มได้เช่า The Yellow House หรือบ้านเช่าสีเหลืองในเมืองอาร์ลส์ เพื่อทำสตูดิโอร่วมกับเพื่อนสนิทอย่าง พอล โกแก็ง จิตรกรมากความสามารถที่เขาได้รู้จักเมื่อปี 1887 ระหว่างที่รอโกแก็งมาถึง แวนโก๊ะได้ตั้งใจวาดภาพช่อ ดอกทานตะวันในแจกันแล้วนำไปตกแต่งในห้องพักเพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับโกแก็ง
ต่อมาเขาได้วาดภาพดอกทานตะวันชุดใหม่นี้ออกมาอีก 3 ภาพ และนำภาพเหล่านั้นกลับมาวาดใหม่ให้ดีกว่าเดิมอีก 3 ครั้งในปีต่อมา โดยภาพวาดเกือบทั้งหมดมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือเป็นรูปดอกทานตะวันที่ทั้งกำลังเติบโต เบ่งบาน และเหี่ยวเฉา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนวิเคราะห์ว่าภาพวาดเหล่านี้กำลังพูดถึงแง่มุมต่างๆ ของชีวิตตามความเชื่อของ นิทานดัตช์โบราณที่เชื่อมโยงดอกทานตะวันกับวงจรชีวิตของของมนุษย์ และสีเหลืองที่แวนโก๊ะเลือกใช้ยังเป็นเฉดสีโดด เด่นไม่เหมือนใครซึ่งไม่เคยมีจิตรกรในยุคนั้นคนไหนใช้มาก่อน
Photo Credit : http://www.vggallery.com/misc/sunflowers.htm
ในขณะเดียวกันระหว่างที่โกแก็งเข้ามาพักอาศัยอยู่กับแวนโก๊ะ เขาก็ได้วาดภาพพอร์เทรตของแวนโก๊ะที่กำลังวาดภาพ ดอกทานตะวันในชื่อ The Painter of Sunflowers เอาไว้ด้วย แม้หลังจากนั้นไม่นานความสัมพันธ์ของพวกเขาจะ ไม่สู้ดีนักหลังเกิดผิดใจกัน และเหตุการณ์หลังจากนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แวนโก๊ะตัดสินใจเฉือนหูของตัวเองทิ้ง อย่างไรก็ตามภาพของดอกทานตะวันเส้นคมชัดในแจกันสีเหลืองสด ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนว่าครั้งหนึ่งพวกเขาต่างก็ มีความสุขและมีมิตรภาพที่ดีให้แก่กัน ถึงขนาดที่แวนโก๊ะยังเคยเขียนจดหมายเพื่อบอกเล่าความปลื้มใจนี้ไปให้ธีโอฟัง
“รู้ไหมว่าโกแก็งชอบมันมากๆ เลยล่ะ แล้วรู้ไหมหากจะพูดถึงดอกไม้ ถ้า Jeannin มีดอกพีโอนี่ Quost มีดอกฮอลลี่ ฮ็อค ฉันก็มีดอกทานตะวันเหมือนกัน”
และต่อให้ภาพดอกทานตะวันของแวนโก๊ะจะถูกนำไปวาดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีกสักกี่ครั้ง ดอกทานตะวันของจิตรกรหนุ่มผู้นี้ ก็ยังคงเอกลักษณ์ โดดเด่นและแบ่งบานจนยากที่จะหาใครเทียบ
Siri P.