พุทธชาด
Meaning
The scent of purity
รื่นฤทัยไร้เดียงสา
กลิ่นหอมแรง และรูปลักษณ์กลีบดอกเป็นแฉกสีขาวพิสุทธิ์ใต้ร่มใบเขียวสดคงพอจะทำให้ใครต่อใครเชื่อมโยงได้ว่าไม้ดอกสายพันธุ์นี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับสกุลมะลิไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แตกต่างก็เพียงในขณะที่มะลิได้รับความนิยมในสากล ทว่าพุทธชาดกลับเป็นที่รู้จักในฝั่งเอเชียเท่านั้น ในภาษาดอกไม้พุทธชาดหมายถึงความดีงามและบริสุทธิ์ ทั้งยังเป็นดอกไม้ที่รู้จักแต่โบราณกาลมา จึงปรากฏในวรรณคดีอยู่หลายวรรค อาทิ ‘สาวหยุดพุทธชาด บานเกลื่อนกลาดดาษดาไป นึกน้องกรองมาลัย วางให้พี่ข้างที่นอน’ จาก กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
Royal Garland
มาลัยชาววัง
จากหนังสือชีวิตในวัง โดย หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ สมัยที่ท่านเป็นนางข้าหลวงในวังสวนสุนันทา มีท่อนหนึ่งที่เล่าถึงการกรองมาลัยดอกพุทธชาดว่า ร้อยยากกว่าดอกมะลิมาก เนื่องจากดอกเล็กละเอียด เวลาร้อยใส่เข็มดอกจะกระดกตั้งทำให้แถวรวน ต้องใช้แป้นใบตองหนา ๆ ช่วยกดลงไป คนร้อยต้องใช้เวลาหัดอยู่นานกว่าจะร้อยได้ชำนาญและออกมาดูสวยงาม
History
ไม่มีบันทึกที่แน่ชัดนักถึงที่มาของดอกไม้ชนิดนี้ แต่เข้าใจกันว่าพุทธชาดน่าจะเป็นไม้พื้นถิ่นในเอเชียจากแถบอินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน และจีน ก่อนที่จะแพร่เข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ในภาษาฮินดีเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า Juhi และเรียกว่า Yuthika ในภาษาสันสฤกต ขณะที่ในไทยมีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า บุหงาประหงัน และไก่น้อย (คนจังหวัดเลยเรียกเช่นนี้) ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูคล้ายคลึงกับดอกไม้ชนิดอื่น ๆ ในวงศ์เดียวกันทำให้คนมักสับสนระหว่าง พุทธชาด มะลุลี และมะลิวัลย์
Culture
ต้นพุทธชาดมีลักษณะเป็นไม้พุ่มที่สามารถนำไปเกาะให้เลื้อยขยายในแนวตั้งได้ ผู้คนจึงนิยมปลูกไว้ประดับสวน ยามดอกบานพร้อมกันเห็นเป็นกลีบสีขาวน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋มส่งกลิ่นหอมเย็น หอมแรงตลอดวันตลอดคืน จนสามารถนำไปสกัดเป็นหัวน้ำหอมหรือน้ำมันหอมระเหยได้ บ้างก็นิยมเก็บมาบูชาพระ โดยเฉพาะในอินเดียที่ถือเป็นไม้มงคลใช้ในการร้อยมาลัยสักการะเทพเจ้าต่าง ๆ
Anecdote
นอกจากรูปงามนามเพราะ พุทธชาดยังมีประโยชน์ในแง่สรรพคุณทางยา โดยคนสมัยโบราณสกัดน้ำมันดอกพุทธชาดมาใช้ทาผิวหนังเพื่อแก้โรคเรื้อน และโรคผิวหนังในยามที่ยังไม่มีคลินิกผิวหนังอย่างในสมัยนี้