Skip to content

Floral Inspiration Edutainment

RakDok (รักดอก)

ลิ้นมังกร


“Tiny faeries in snapdragon beds, crying, wailing to be fed, on the nectar brought by bees, from the nearby hills of green.” เหล่าภูติน้อยเคลิ้มนิทราบนภูษากลีบลิ้นมังกร ร่ำร้อง ครวญคร่ำ ถึงมื้อค่ำที่เว้าวอน ด้วยน้ำหวานที่ลำเลียงโดยภุมรินน้อยใหญ่ จากหมู่เขาเขียวเคียงใกล้แต่เก่าก่อน - M. L. Kiser

Meaning

Heading to the sky
ดั่งมังกรมุ่งหน้าสู่โพยม

    บ้างว่าเจ้าหล่อนหน้าตาเหมือนหัวมังกร บ้างก็ว่าเหมือนช่วงปากที่หุบๆ อ้าๆ เสียมากกว่ายามบีบจากด้านข้าง แต่จะอย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดเจนว่าดอกไม้สีสันสดใสที่ระบัดกลีบสวยเกาะกลุ่มบนแกนดอกพุ่งเชิดสู่ฟ้าอย่าง Snapdragon หรือที่เรียกกันในชื่อไทยว่า ลิ้นมังกร ดอกนี้ดูสวยสง่าแฝงความอหังการ์เหมือนสัตว์ในตำนานตัวนั้นจริงๆ ในภาษาดอกไม้ลิ้นมังกรคือตัวแทนของความสง่างามและเข้มแข็ง แต่บางตำราก็ว่ายังหมายถึงการหลอกลวงปกปิด ผู้คนจึงมักใช้ดอกไม้นี้เป็นของแทนใจยามทำอะไรที่ผิดพลาด เช่น ในยุควิคตอเรียที่มักใช้การส่งดอกไม้แทนความหมายโดยนัย การส่งดอกลิ้นมังกรจับคู่กับดอกไฮยาซินธ์ที่แฝงความหมายถึงการพูดความจริง จึงหมายความว่าเขาคนนั้นกำลังงอนง้อขอโทษที่ได้ทำเรื่องผิดต่อคุณ

Dragon’s skull
กะโหลกมังกร

ไม่น่าแปลกใจที่ไม้สายพันธุ์นี้มีเบื้องหลังเป็นตำนานความเชื่อเกี่ยวกับเวทมนตร์แทบนับนิ้วไม่ถ้วน หากใครรั้งรอให้กลีบสดสีสวยเหี่ยวแห้งร่วงโรยปลิดปลิวไปพร้อมกับใบ ก็จะเข้าใจถึงความน่าสะพรึงของต้นไม้ชนิดนี้ ยามมีชีวิตอยู่งดงามสะสวย ยามจากไปกลับทิ้งเมล็ดแห้งกรังที่หน้าตาคล้ายหัวกะโหลกมนุษย์เป็นพวงตามแนวกิ่งก้าน สะท้อนถึงธรรมชาติของดอกไม้อันว่าความงามนั้นไม่ยั่งยืนจีรัง

History

    นอกจาก Snapdragon แล้ว ลิ้นมังกรยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า Antirrhinum ซึ่งมาจากคำภาษากรีกสองคำที่แปลว่า ‘anti’ (anti ในภาษากรีกแปลว่าเหมือน) และ ‘nose’ จึงอาจกล่าวได้ว่าคนโบราณคิดว่าเจ้าไม้สายพันธุ์นี้ดูเหมือนจมูก ไม่มีบันทึกแน่ชัดว่าดอกไม้สีสันสดสวยสายพันธุ์นี้แพร่สู่อารยธรรมสวนหลังบ้านตั้งแต่ยุคสมัยไหน แต่คาดการณ์กันว่าอาจมาจากแถบเมดิเตอร์เรเนียน โดยเฉพาะอิตาลีและสเปน ตะวันออกกลาง เรื่อยไปถึงแอฟริกาเหนือ ในขณะที่คนทั่วไปคิดว่ามันเหมือนมังกร คนเยอรมันและอิตาลีกลับคิดว่าเจ้าหล่อนเหมือนปากสิงโต ส่วนคนเอเชียกลับยิ่งฉุดความน่าเกรงขามของมันลงต่ำเพราะชื่อเล่นของมันถูกเรียกว่าริมฝีปากกระต่าย

Culture

    แต่ไหนแต่ไรมาผู้คนใช้ดอกลิ้นมังกรในการประดับตกแต่ง มีความเชื่อโบราณกล่าวว่าถ้าหากถูไถกลีบดอกกับร่างกายจะช่วยเพิ่มมนต์เสน่ห์ให้คนผู้นั้นดูน่าหลงใหลมากขึ้น (แน่นอนว่าไม่จริง) บ้างก็ว่าถ้าคล้องมาลัยดอกลิ้นมังกรจะช่วยป้องกันร่างกายจากพิษได้ (นี่ก็ยิ่งไม่ถูกต้อง) ขณะที่ตำนานยุโรปโบราณเชื่อว่าดอกไม้ชนิดนี้สามารถทำลายมนต์ดำได้ (…) มาถึงยุคสมัยใหม่นอกจากจะเป็นหนึ่งในดอกไม้ยอดนิยมในสวนหลังบ้านแล้ว ผู้คนยังใช้ความสดสวยของเจ้าหล่อนประดับประดาในอาหาร ขนมหวาน คอกเทล ไปจนถึงเครื่องดื่มต่าง ๆ เนื่องจากดอกและใบของลิ้นมังกรไม่เป็นพิษ ทั้งยังมีฤทธิ์แก้อาหารไอ

Anecdote

    ลิ้นมังกรเป็นดอกไม้ที่มีความหลากหลายทางสีสันมาก หลายๆ สายพันธุ์ได้รับรางวัลเพราะเฉดสีที่ละเอียดอ่อน อย่างเช่น Twinny Peach ลิ้นมังกรสีพีชไล่เฉดอ่อนหวานที่ชนะรางวัล AAS Flower Award Winner ในปี 2010 อย่างสมศักดิ์ศรี

Basic Facts

Scientific Name: Antirrhinum majus
Family: Plantaginaceae
Colors: แดง ชมพู ขาว เหลือง ส้ม และอื่น ๆ
Seasons: ฤดูหนาว
Length of time to grow: ลิ้นมังกรเป็นไม้ดอกที่ไม่ชอบอากาศร้อนจนเกินไป การวางแผนเพาะปลูกจึงควรคะเนให้ดอกบานช่วงฤดูหนาวพอดี เพราะความที่ต้นสูงจึงไม่ควรให้ถูกลมแรงโดยตรงเพราะช่อดอกอาจหักโค่นได้ ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ไม้ค้ำช่วยพยุง ปลูกไว้ในที่ที่แดดแรง รดน้ำพอชุ่มแต่ไม่ควรรดให้ถูกใบเพราะจะทำให้ใบเป็นโรคได้ง่าย

Reference