Skip to content

Floral Inspiration Edutainment

RakDok (รักดอก)

พิกุล


“ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว ทั้งเกดแก้วพิกุลยี่สุ่นศรี จะโรยร้างห่างสิ้นกลิ่นมาลี จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ ที่มีกลิ่นก็จะคลายหายหอม จะพลอยตรอมเหือดสิ้นกลิ่นตลบ ที่มีดอกก็จะวายระคายครบ จะเหี่ยวแห้งเซาซบสลบไป...” - บทเสภาขุนช้างขุนแผน

Meaning

Luck and longevity
สิริมงคล ทนทาน และยั่งยืน
    พิกุล นับเป็นไม้ที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ เห็นได้จากบางตอนของบทประพันธ์ในยุคก่อนซึ่งคนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็นอิเหนา ขุนช้างขุนแผน หรือรามเกียรติ์ มักสอดแทรกดอกพิกุลเข้าไปเมื่อพรรณนาถึงดอกไม้ต่าง ๆ พิกุลนับเป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้มงคลที่นิยมปลูกไว้ตามบ้านเรือนหรือนำไปบูชาพระ เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นต้นไม้ซึ่งอยู่ในสวนสวรรค์ของพระอินทร์ อีกทั้งพิกุลยังเป็นไม้ยืนต้นที่แข็งแกร่งและทนทานต่อแทบทุกสภาพแวดล้อม นอกจากดอกที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์แบบไทยๆ ส่วนต่าง ๆ ของต้นพิกุลยังมีสรรพคุณเป็นตัวยาสมุนไพรชั้นดี อีกทั้งเนื้อไม้ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างหรือทำเป็นข้าวของเครื่องใช้ได้ พิกุลจึงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อและวิถีชีวิตของชาวไทยมาเนิ่นนาน นับแต่อดีตตราบถึงปัจจุบัน

Spanish cherries and other stories
เรื่องอยากบอกของ ‘ดอกพิกุล’ 
    พิกุลมีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยรักษาเหงือกและฟัน ในอินเดียมีการนำก้านของต้นพิกุลมาใช้แทนแปรงสีฟัน การบ้วนปากด้วยน้ำดอกพิกุลยังช่วยระงับกลิ่นปาก และทำให้สุขภาพช่องปากแข็งแรง ดอกพิกุลยังมีสรรพคุณทางยามากมาย และกลายเป็นส่วนผสมในตำรับยาไทยโบราณหลายขนาน โดยใบ ดอก เปลือก ราก ของพิกุล สามารถนำไปเข้าเครื่องยาไทยรักษาได้สารพัด แม้กระทั่ง ‘ขอนดอก’ หรือเชื้อราสีขาวซึ่งเกิดขึ้นในเนื้อไม้พิกุลเมื่อต้นมีอายุยาวนาน ก็ยังได้รับการยอมรับว่ามีสรรพคุณที่ดีกว่าขอนดอกซึ่งเกิดจากต้นไม้อื่น

History

    พิกุลมีถิ่นกำเนิดในแถบอินโดจีน อินเดีย ศรีลังกา เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และหมู่เกาะในทะเลอันดามัน ไปจนถึงวานูอาตูซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ โดยชื่อ ‘พิกุล’ นั้นสันนิษฐานกันว่ามาจากภาษาอินเดีย หรือแผลงจากคำว่า Bakul หรือ พกุล ในภาษาบาลี - สันสกฤต ซึ่งใช้เรียกต้นพิกุล ดังที่ปรากฏในตอนหนึ่งของ ‘หนังสือมหาชาติคำหลวง’ สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งกล่าวถึงตอนที่อจุตฤาษีพรรณนาถึงพันธุ์ไม้ในป่าให้ชูชกฟังว่า “ปงกุรา พกุล เสลา ไม้พกุล สุกรมก็มี” ซึ่งคาดว่าพกุลนั้นหมายถึงพิกุล

Culture

    ด้วยความเชื่อที่ว่าต้นพิกุลเป็นต้นไม้ในสวนของพระอินทร์อันนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลต่อมนุษย์ พิกุลจึงเป็นดอกไม้ซึ่งมักมีบทบาทในงานพระราชพิธีซึ่งเป็นงานมงคลของราชวงศ์ไทย ไม่ว่าจะเป็นพระราชพิธีโสกันต์ หรือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น โดยจะมีการประดิษฐ์ดอกพิกุลจากทองคำหรือเงินแท้ขึ้นมา เพื่อให้พระมหากษัตริย์ซึ่งมีฐานะเป็นสมมติเทพทรงโปรยพิกุลเงินพิกุลทองพระราชทานแด่เชื้อพระวงศ์และบรรดาข้าราชบริพารทั้งหลาย ดั่งเทวดาโปรยดอกไม้ลงมาให้มนุษย์ได้ชื่นชมบูชาและนำมาซึ่งความเป็นมงคล คนไทยในสมัยก่อนนิยมนำดอกพิกุลไปใช้ในบูชาพระ ใช้เปลือกไม้พิกุลเป็นสีย้อมผ้า ส่วนเนื้อไม้พิกุลก็ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเนื้อไม้ที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากมีเทวดาสิงสถิตอยู่ มักนำมาทำเป็นด้ามอาวุธ นำมาทำเป็นเสาบ้านหรือพวงมาลัยเรือ ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้เป็นมงคลต่อผู้ใช้ และยังมีการนำดอกพิกุลไปใส่ไว้ในงานจิตรกรรมหรือทำเป็นลายเครื่องประดับต่าง ๆ เกิดเป็นลายดอกพิกุลซึ่งงดงาม และเชื่อว่าจะนำความมงคลหรือมั่งคั่งเข้ามาแก่สถานที่หรือผู้สวมใส่

Anecdote

    คนไทยนิยมปลูกต้นพิกุลเอาไว้ในบ้าน เนื่องจากเชื่อว่าต้นพิกุลเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีเทวดาคอยสิงสถิตอารักขา และยังเป็นไม้ยืนต้นซึ่งมีอายุยืนนาน จึงจะส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยมีอายุยืนนานและแข็งแรง อีกทั้งดอกพิกุลก็ยังมีกลิ่นหอมที่คงทนแม้จะร่วงหล่นจากต้นไปแล้วหลายวัน เชื่อกันว่าควรปลูกต้นพิกุลเอาไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ อีกทั้งยังควรลงมือปลูกในวันจันทร์หรือวันเสาร์ และจะดีที่สุดหากผู้ลงมือปลูกเป็นสตรี เนื่องจากชื่อพิกุลนั้นน่าจะเป็นชื่อที่เหมาะหรือถูกโฉลกกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในประเทศอินเดีย จะพบต้น Bakul หรือพิกุลได้ในฝั่งขวาของทางเข้าวัดเกือบทุกที่ แทนสัญลักษณ์ของผู้ชาย ในขณะที่ต้น Chalta (Dillenia indica) ซึ่งถือเป็นตัวแทนของเพศหญิงนั้นจะอยู่ทางฝั่งซ้ายของทางเข้าวัด

Basic Facts

Scientific Name: Mimusops elengi
Family: Sapotaceae
Colors: ดอกปกติสีขาว, ครีม เมื่อใกล้โรยจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล
Seasons: ออกดอกตลอดปี
Length of time to grow: หากเพาะจากเมล็ด อาจใช้เวลาประมาณ 4 - 5 ปี กว่าจะเริ่มมีดอก ปลูกโดยการตอนกิ่ง, เพาะเมล็ด, ปักชำกิ่ง

Reference