มากกว่าการจัดดอกไม้ การจัดอิเคบานะคือการจัดใจ
อิเค (ike) แปลว่า มีชีวิต
บานะ (bana or hana) แปลว่า ดอกไม้
อิเคบานะ (Ikebana) แปลว่า “ให้ชีวิตกับดอกไม้”
ศาสตร์และศิลป์ของการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นนั้นริเริ่มเมื่อครั้งศาสนาพุทธแผ่เข้ามาถึงญี่ปุ่น เมื่อชาวบ้านเริ่มใช้ดอกไม้ถวายพระ วัดวาอารามก็เต็มไปด้วยดอกไม้ พระสงฆ์จึงเป็น ‘florist’ กลุ่มแรกที่ฝึกฝนศาสตร์การจัดดอกไม้ในศตวรรษที่ 15 จนแพร่หลายในเวลาต่อมา
ในปัจจุบันคนญี่ปุ่นยังนิยมจัดอิเคบานะในพิธีชงชาและฝึกฝนเป็นศิลปะบำบัดเพื่อให้ใจสงบ
ด้วยรากของการจัดดอกไม้ที่เริ่มต้นจากพระพุทธศาสนา แก่นของอิเคบานะจึงเป็นทั้งการบำบัดและการทำสมาธิเชื่อมโยงกับธรรมชาติเพื่อหาความสงบทางจิตใจ นักรบซามูไรในสมัยก่อนฝึกฝนการจัดดอกไม้ควบคู่ไปกับการจับดาบ เพราะ ‘การมองดอกไม้เป็น’ ช่วยให้จิตนิ่ง ลับการมองให้เฉียบคมก่อนเข้าสนามรบที่เปื้อนเลือด
อิเคบานะจึงเป็นศาสตร์ของความอ่อนหวานที่เพิ่มความแข็งแกร่งทางจิตใจไม่ใช่เพียงเลือกดอกไม้ที่สวยงามปักลงในแจกัน ไม่ใช่แค่ให้ชีวิตกับดอกไม้แต่เป็นการมองดอกไม้เพื่อย้อนกลับมามองตัวเราเอง
เพราะสิ่งสำคัญยิ่งกว่าผลลัพธ์ในแจกัน คือ กระบวนการสร้างสรรค์ระหว่างทาง
เอกลักษณ์การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น คือความเรียบง่ายที่แฝงด้วยปรัชญาลุ่มลึก ใช้กิ่งจำนวนน้อยแต่มองแล้วสวยสง่า จึงเปรียบ “การจัดดอกไม้ญี่ปุ่นว่าเหมือนไม่จัด” คนญี่ปุ่นมีสำนวนว่า Iwanu ga Hana แปลว่า “การไม่พูดคือดอกไม้” ความเงียบ คือ สิ่งที่เรียบง่ายแต่รุ่มรวยงดงามเหมือนดอกไม้ที่ผลิบานอย่างเงียบๆ ศาสตร์อิเคบานะเชื่อว่าการจัดดอกไม้ท่ามกลางความเงียบทำให้จิตนิ่ง จดจ่ออยู่กับปัจจุบันตรงหน้าทำให้มองเห็นความงามที่แท้จริงของธรรมชาติ เกิดความสงบ ผ่อนคลายไปจนถึงรับรู้ความผลิบานและโรยราของดอกไม้และชีวิต
พื้นฐานของอิเคบานะยังสอนเรื่องความสมดุลและความกลมกลืนกับธรรมชาติ การจัดดอกไม้ทั่วไป เราอาจเรียกส่วนประกอบของดอกไม้ ว่า ดอก กิ่ง ก้าน ใบ แต่สำหรับอิเคบานะ เรียกเป็น 3 กิ่ง คือ ชิน โซเอะ และไทชิน (shin) คือ กิ่งตั้งตรงที่ยาวที่สุดสื่อถึงสวรรค์ โซเอะ (soe) กิ่งยาวปานกลางเป็นตัวแทนของมนุษย์ ส่วน ไท (控) กิ่งสั้นที่สุด คือตัวแทนของผืนดินและธรรมชาติ
จากสวรรค์สูงเสียดฟ้าถึงผืนดิน
ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งถูกเล่าในแจกันผ่านกิ่งสามแบบ ซึ่งมักนิยมจัดโดยใช้กิ่งจำนวนคี่ เพื่อให้รูปทรงดอกไม้ออกมาเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านไม่เท่า โดยโครงสร้างของการจัดจะแตกต่างกันไปตามรูปแบบของอิเคบานะและศาสตร์ของแต่ละสำนัก แต่โดยหลักแล้วรูปทรงดอกไม้อิเคบานะมักเป็นอัตราส่วนทองคำ (golden ratio)
การฝึกจัดดอกไม้โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์เหล่านี้เตือนใจให้รักษาสมดุลภายในและโลกภายนอก
เมื่อเข้าใจองค์ประกอบพื้นฐานของกิ่งในการจัดอิเคบานะ รวมถึงเตรียมสภาพแวดล้อมที่เงียบและจิตที่นิ่งพร้อมแก่การจัดดอกไม้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในการจัดอิเคบานะ คือ การเลือกดอกไม้
หากเป็นการจัดดอกไม้ทั่วไปตามแบบตะวันตก เรามักจะตั้งคำถามว่าดอกไม้ดอกไหนที่สวยพอจะนำมาจัด แต่สำหรับผู้ฝึกจัดอิเคบานะคำถามนั้นกลับกัน คือ เราจะฝึกมองด้านงามที่สุดของดอกไม้ดอกหนึ่งแล้วทำให้ดอกไม้ดอกนั้นเปล่งประกายได้อย่างไร
มองอย่างไรให้เห็นความงามในดอกหญ้า กิ่งไม้ธรรมดา ใบไม้ข้างทาง มองเห็นลายเส้นที่ธรรมชาติบรรจงวาดบนกลีบ เกสร และใบไม้ เห็นสีสันที่พู่กันจากแสงแดด เม็ดฝน สายลมแต่งแต้มบนพืชพรรณจากธรรมชาติในฤดูกาลต่างๆ แล้วเลือกหยิบความสวยงามเหล่านั้นมาจัดโดยไม่ใส่ตัวเองลงไป
ถ้าดอกไม้เปรียบเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง
คำถามที่ผู้จัดดอกไม้ควรคำนึง คือ ด้วยความสวยที่ธรรมชาติรังสรรค์มานี้ จะแต่งตัวดอกไม้ดอกนี้อย่างไรให้สวยที่สุดเพื่อดึงความงามที่เป็นอยู่ให้โดดเด่น แจกันหรือกระถางทรงไหนจะโอบรับกับส่วนเว้าส่วนโค้งของดอกไม้ สัดส่วนของกิ่งก้านแบบนี้ควรปักเคียงคู่กับดอกอะไรด้วยองศาเท่าไหร่ถึงจะทำให้ดอกไม้ในแจกันดูมีมิติ
จัดอย่างไรให้ตัดแต่งน้อยที่สุดแต่สวยที่สุดในแบบที่เป็น
ไม่ใช่ดอกไม้ที่ควรเปลี่ยน
แต่การมองของเราต่างหากที่ต้องปรับ
กล่าวได้ว่า อิเคบานะนั้น แม้จัดในความเงียบ แต่ระหว่างจัด ผู้จัดย่อมเกิดบทสนทนาภาษาดอกไม้กับตัวเอง สังเกตเห็นอารมณ์ในใจที่ผุดขึ้นมาระหว่างพินิจพิจารณาดอกไม้แต่ละดอก ฟังเสียงในใจตัวเองที่วิพากษ์วิจารณ์ความสวยงามของดอกไม้ เมื่อพบความงามตามธรรมชาติบางอย่างที่มองว่าอัปลักษณ์ เห็นดอกไม้บางดอกที่ไม่อยากเลือกมาปักในแจกัน ผู้จัดดอกไม้จะได้ฝึกใคร่ครวญตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าเรามองเห็นและไม่เห็นความงามในสิ่งใดบ้าง เมื่อได้ฝึกขุดค้นจิตใจตัวเองบ่อยๆ ก็จะตัดสินความงามโดยใส่ตัวเองเข้าไปน้อยลง และค่อยๆ ฝึกฝนการชื่นชมความงามตามธรรมชาติในแบบที่เป็นได้อย่างลื่นไหลขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ผู้จัดอิเคบานะที่เก่ง จึงไม่ใช่เพียงเลือกดอกไม้ที่สวย แต่ต้องมองเป็นและสร้างสรรค์เก่ง รวมทั้งไม่จำเป็นต้องวางแผนมาล่วงหน้า เพราะเมื่อกระบวนการจัดสำคัญกว่าปลายทาง สิ่งสำคัญ คือการได้ปล่อยอารมณ์ระหว่างพบปะ สัมผัสกับดอกไม้ได้เรียนรู้ความรู้สึกของตัวเองที่เกิดขึ้น
ไม่มีการจัดอิเคบานะครั้งใดที่เหมือนกันเลย เพราะความรู้สึกของคนเราเปลี่ยนไปในทุกห้วงขณะ และดอกไม้แต่ละพันธุ์ต่างก็มีช่วงเบ่งบานตามฤดูกาลที่ต่างกันออกไป
หากสิ่งสำคัญของการจัดอิเคบานะคือการจัดใจทุกครั้งที่ชื่นชมความงามของดอกไม้ เราอาจพบว่า เราต่างก็เป็นดอกไม้ดอกหนึ่ง สิ่งสร้างสรรค์จากธรรมชาติที่มีความงดงามในตัวเองไม่ต่างจากสรรพสิ่งอื่นเช่นกัน
รตา มนตรีวัตอ้างอิง :
https://www.artsy.net/article/artsy-editorial-thriving-art-ikebana-japanese-tradition-flower-
arranging
https://www.bloomon.co.uk/blog/ikebana-the-japanese-art-of-flower-arranging/
หนังสือ Japonisme - Erin Niimi Longhurst