Skip to content

Floral Inspiration Edutainment

RakDok (รักดอก)

รสสุคนธ์


“รสสุคนธ์ปนมะลิผลิดอกโต ดอกส้มโอกลิ่นกล้าน่าดม มลิวันพันกิ่งมณฑาเทศ แก้วเกดดอกดกตกอยู่ถม” - บทละครอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

Meaning

Blooming perfume
สุคนธรสแห่งพนาไพร
    รสสุคนธ์ แปลว่า รสของกลิ่นอันหอมหวน นามของดอกไม้สีขาวที่มีกลิ่นหอมชื่นเย็นจรุงใจนี้จึงนับว่าสมตัว เพราะกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ และรูปลักษณ์อันดีงามเช่นนี้เอง ชื่อของเจ้าหล่อนจึงมักถูกหยิบยกไปตั้งเป็นชื่อของหญิงสาว รสสุคนธ์ยังเป็นดอกไม้ที่มักปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทย โดยกวีมักนำไปเปรียบเทียบ หรือใช้ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นหอม อาทิ ในเรื่อง สิงหไกรภพ โดยสุนทรภู่ ที่มีใจความตอนหนึ่งว่า ‘สสุคนธ์เหมือนสุคนธ์ปนแป้งสด  มาร้างรสสุคนธ์น้องให้หมองหมาง อบเชยเหมือนพี่ชวนเจ้านวลนาง  ออกจากปรางค์มาในห้องหิมวันต์’

Smell of poisoned love
กลิ่นสุคนธ์ปนด้วยพิษรัก
    ตัวละครในบทประพันธ์เรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ถูกตั้งชื่อตามดอกไม้กลิ่นหอมนี้ว่า นางเสาวคนธ์ มาลีมีกลิ่นหอมแรงเท่าใด รู้ไว้ว่าพิษรักแรงหึงของสตรีนั้นแรงยิ่งกว่า ตามเนื้อเรื่องเล่าว่านางเสาวคนธ์นั้นเป็นเพื่อนเล่นของสุดสาครตั้งแต่เยาว์วัย ยามที่สุดสาครออกตามหาพระอภัยมณีก็ออกเดินทางติดตามมาด้วยทั้งยังคอยช่วยเหลือไม่ห่าง จวบจนวันหนึ่งสุดสาครกลับไปติดพันนางสุลาลีวันอยู่ที่เมืองลงกา เพราะความหึงหวงนางเสาวคนธ์จึงแผลงศรถูกแก้มของนางสุลาลีวัน ทั้งยังปฏิเสธงานแต่งงานกับสุดสาครแล้วหนีไปเพราะไม่ต้องการเป็นชายารอง จนสุดท้ายสุดสาครสามารถง้องอนนางกลับมาได้แล้วได้ครองรักกันในที่สุด

History

    รสสุคนธ์เป็นพันธุ์ไม้ป่าที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทยและแถบประเทศเพื่อนบ้าน ในประเทศไทยสามารถพบได้เกือบทุกภูมิภาคในป่าประเภทเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าแดง มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ดอกสีขาวจับตัวเป็นช่อ แต่ละดอกมี 5 กลีบ ส่วนที่ดูเหมือนเป็นพู่ชูช่อกลมน่าเอ็นดูนั้น จริง ๆ แล้วคือเกสร ยามดอกไม้บานช่วงรุ่งสางจะส่งกลิ่นหอมฟุ้งจวบจนสิ้นวัน เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่พบได้เกือบทั่วทุกภูมิภาคในไทยจึงมีชื่อพื้นถิ่นที่ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น มะตาดเครือ เสาวรส เสาวคนธ์ สำหรับคนภาคกลาง ย่านป๊อด ป๊ด กะป๊ด ในภาคใต้ ลิ้นแรด ในอุบลราชธานี ปดคาย ปดเลื่อม ในสุราษฎร์ธานี หรือ บอระคน อรคน เถาอรคน สำหรับจังหวัดตรัง เป็นต้น

Culture

    นอกจากเป็นไม้พื้นถิ่นที่พบได้ในป่าใหญ่แล้ว ผู้คนนับแต่สมัยโบราณยังนิยมปลูกเป็นไม้ประดับในบ้านเนื่องจากมีชื่อที่เป็นมงคล ทั้งยังเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมบารมีให้ผู้ปลูกมีชื่อเสียง คุณงามความดีระบือไกลเหมือนกลิ่นหอมและเถาไม้ที่เลื้อยได้ไกล นอกจากนี้ตัวเถาของรสสุคนธ์ยังแข็งแรงและเหนียวเป็นพิเศษ จึงมักถูกนำไปใช้สอยในการมัดผูกสิ่งของ หรือทำเป็นเชือกชิงช้าให้เด็กนั่งได้ ตัวใบไม้เองก็มีประโยชน์เช่นเดียวกัน ผู้คนสมัยก่อนอาศัยความหยาบสากของใบ ใช้รูดกำจัดเมือกปลาไหล ตลอดจนใช้ขัดถูพื้นผิววัสดุให้เรียบ เรียกว่าเป็นพืชพรรณที่มากประโยชน์ใช้สอย ทั้งยังผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านมาแต่โบราณ

Anecdote

    รสสุคนธ์ยังมีประโยชน์มากในแง่สรรพคุณทางยา เกือบทุกส่วนสามารถนำไปใช้รักษาอาการเจ็บป่วยได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาทิ ดอกใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้อาการวิงเวียน อ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ ใบ และรากหากนำมาตำพอกแผลจะช่วยลดอาการผดผื่นคัน หากนำมาต้มดื่มจะช่วยเยียวยาอาหารตกเลือดในปอด หรือกระทั่งใช้อมก็ช่วยรักษาแผลในปากได้

Basic Facts

Scientific Name: Tetracera loureiri
Family: Dilleniaceae
Colors: ขาว
Seasons: ทุกฤดู
Length of time to grow: รสสุคนธ์เป็นไม้เลื้อยที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ออกดอกเป็นระยะตลอดปี สามารถปลูกลงดินแล้วทำแนวรั้วระแนงให้ไม้เลื้อยเกาะได้ อาศัยคอยตัดแต่งบ่อย ๆ อย่าให้รกครึ้ม ชอบแดดจัดเหมือนไม้เลื้อยทั่วไป ไม่ชอบความชื้นที่มากเกินจึงควรระวังเรื่องการเลือกดิน และพื้นที่ปลูกให้ระบายน้ำได้ดี ตลอดจนควรรดน้ำเพียงวันละครั้ง

Reference