Skip to content

Floral Inspiration Edutainment

RakDok (รักดอก)

อัญชัน


“อัญชันคิดอัญชัน ทาคิ้วมันกันเฉิดปลาย ชำเลืองเยื้องตาชาย ชายชมนักมักแลตาม” - เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์

Meaning

Blue is the kindness color
งามขนงวงวาดดังปีกผีเสื้อ
    ในยุคที่เหล่าสาวงามตระกูลดียังไม่มีดินสอเขียนคิ้วให้แต้มแต่งใบหน้าได้ดั่งใจ พวกเธอจึงได้แต่คิดดัดแปลงเอาดอกไม้สีฟ้าอมม่วงชนิดหนึ่งมาขยี้กับน้ำแล้ววาดแต่งดวงคิ้วให้ดกดำดูเฉิดฉาย เจ้าดอกไม้สีสันสดใสที่เลื้อยเป็นพุ่มอยู่ริมรั้วจึงมีคุณูปการมหาศาลแก่แวดวงแฟชั่นในอดีต สมกับความหมายในภาษาดอกไม้ที่แปลว่าความใจดี และการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ด้วยความที่ Butterfly Pea หรือเจ้าอัญชันดอกน้อยมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย จึงไม่ค่อยมีบันทึกทางวรรณกรรมปรากฏในโลกตะวันตกมากนัก ขณะที่ผู้คนในโลกตะวันตกเลือกใช้ประโยชน์จากสีของดอกไม้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งผสมทำอาหาร ย้อมเสื้อผ้า ไปจนถึงใช้เป็นสีออร์แกนิคในการวาดภาพ

Flower that wins wars
ผู้ไม่แพ้พ่ายแม้ในสงคราม
    ในภาษาอินเดียดอกอัญชันมีชื่อเรียกว่า Aparajita ซึ่งมาจากร่างหนึ่งของพระแม่ทุรคาที่ใช้ในการทำสงคราม พระนางจำแลงกายเป็นเถาดอกไม้ต่อสู้กับศัตรูอย่างแกร่งกล้า และเพราะคำว่า Aparajita นั้นมีความหมายถึง ‘ผู้ไร้พ่าย’ ผู้คนที่นับถือพระเทวีจึงพันเถาดอกอัญชันไว้ที่แขนหรือข้อมือเพื่อขอพรให้ได้รับชัยชนะยามต้องการความสำเร็จใด ๆ

History

    ดอกอัญชันมีชื่อเรียกเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ว่า Clitoria ternatea โดยชื่อสกุล Clitoria เป็นภาษาละตินที่มาจากคำว่า clitoris เนื่องจากรูปร่างของดอกไม้ที่ดูคล้ายอวัยวะเพศหญิง ถิ่นกำเนิดของดอกไม้ชนิดนี้เชื่อกันว่ามาจากแถบอเมริกาใต้ และเอเชีย ก่อนจะเผยแพร่สู่อินเดียในช่วงศตวรรษที่ 17 หลังจากนั้นชาวยุโรป และแถบทวีปอื่น ๆ จึงได้มีโอกาสทำความรู้จักไม้ดอกสีสวยนี้ภายหลัง

Culture

    ดอกอัญชันมีบทบาทกับชีวิตของผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก ชาวมาเลเซียตะวันออกมักจะเติมดอกไม้ลงไปในหม้อระหว่างหุงข้าวเพื่อให้ข้าวมีสีสันสดสวยกินคู่กับเครื่องเคียงต่าง ๆ ในอาหารเปอรานากัน (จีน-มลายู) อาทิ nasi kerabu หรือ pulut inti ขณะที่ทางฝั่งพม่าเองก็นิยมนำดอกไม้ชนิดนี้ไปชุบแป้งทอดทานคู่กับน้ำจิ้มเป็นอาหารว่าง คนไทย และเวียดนามยังนิยมผสมดอกอัญชันแห้งลงไปในเครื่องดื่มต่าง ๆ อย่างชา หรือน้ำมะนาวเพื่อสร้างสีสัน ทั้งตัวดอกอัญชันเองยังอุดมไปด้วยสารแอนไซยานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงเลือดและสายตา นอกจากวัฒนธรรมทางด้านอาหาร ในสมัยโบราณผู้เฒ่าผู้แก่นิยมนำดอกอัญชันมาขยำกับน้ำทาบริเวณคิ้วและศีรษะของเด็กอ่อน เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำให้ผมดกดำเงางาม

Anecdote

    ความลับข้อหนึ่งที่คนไม้คุ้นเคยกับดอกไม้ หรือห่างไกลจากห้องครัวอาจยังไม่รู้ก็คือ ดอกอัญชันนั้นทำปฏิกิริยากับกรด หากเติมน้ำมะนาวลงในน้ำดอกอัญชันสีฟ้าสด กรดจะเปลี่ยนสีน้ำนั้นให้กลายเป็นสีชมพู ทำให้คาเฟ่หลาย ๆ แห่งใช้ประโยชน์จากดอกไม้ชนิดนี้ในการสร้างความตื่นตาตื่นใจให้เมนูเครื่องดื่ม

Basic Facts

Scientific Name: Clitoria ternatea
Family: Fabaceae
Colors: ฟ้าอมม่วง
Seasons: ทุกฤดู
Length of time to grow: ดอกอัญชันเป็นดอกไม้พื้นบ้านที่ปลูกก็ง่าย ดูแลก็ยิ่งไม่ยุ่งยาก สามารถขยายพันธุ์ได้ง่าย ๆ โดยใช้เมล็ด เพาะลงในดินร่วนปนทราย อัญชันต้องการน้ำไม่มากนัก เพียงรดให้พอชุ่มอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญก็คือผู้ปลูกควรทำไม้ระแนงหรือหลักยึดให้ตัวต้นได้เลื้อยเกาะตลอดจนให้ได้รับแสงแดดเต็มที่ ใช้เวลาสั้น ๆ เพียงสองเดือนเจ้าดอกไม้สีสันสดสวยก็สามารถผลิบานให้ผู้ปลูกได้ชื่นใจ

Reference