ชวนชม
Meaning
Riches and charm
‘มีเสน่ห์ มั่งคั่ง เปี่ยมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์’
‘ชวนชม’ เป็นต้นไม้ที่เลี้ยงง่ายและทนต่อความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี จึงมีสมญานามในแบบสากลชื่อหนึ่งว่า ‘Desert Rose’ หรือ ‘กุหลาบทะเลทราย’ ชวนชมนับเป็นหนึ่งในไม้ประดับมงคลของประเทศไทยและจีน นอกจากลำต้นจะแปลกตา มีดอกสีสันสดใสที่สวยและหอมอ่อน ๆ ชวนให้สบายใจแล้ว ในประเทศไทยยังมีความเชื่อกันว่าชวนชมจะสร้างเสน่ห์ให้กับผู้ปลูกแบบชวนให้ชมหรือชวนให้มองเฉกเดียวกับชื่อ ส่วนในประเทศจีนนั้นเรียกดอกชวนชมว่า 富贵花 - Fuguihua อันหมายถึงดอกไม้แห่งความร่ำรวย รากหรือลำต้นของชวนชมมักจะมีลักษณะบวมใหญ่ สื่อแทนความอุดมสมบูรณ์และมั่งคั่ง ดอกชวนชมที่มีสีสันสดใสยังเป็นตัวแทนของโชคลาภและความเจริญรุ่งเรืองด้วย
Desert roses and other stories
เรื่องอยากบอกของ ‘ดอกชวนชม’
แม้ในผืนป่าแอฟริกา พิษของยางต้นชวนชมจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการล่าสัตว์ แต่เมื่อนำมาปลูกในเมืองหรือในบ้าน พิษของยางชวนชมกลายเป็นสิ่งที่พึงต้องระวังเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็ก ๆ และสัตว์เลี้ยง เพราะหากไปสัมผัสถูกยางชวนชมจะทำให้ผิวหนังเกิดอาการอักเสบและเป็นแผล หรือหากสัตว์เลี้ยงเผลอเลียน้ำยางเข้าไป อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต แขนขาอ่อนแรง หมดสติ และทำให้หัวใจเต้นผิดปกติจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ เปลือกหรือรากของต้นชวนชมยังสามารถทำให้ประสาทส่วนกลางเสียหาย และเกิดอาการหัวใจล้มเหลวในสัตว์เลี้ยงได้ด้วย
History
ชวนชมถูกค้นพบครั้งแรกทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา แถบประเทศแทนซาเนียและเคนย่าในราวๆ ปี พ.ศ. 2305 โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ P. Forskal เชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดของชวนชมนั้นอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า บริเวณมอริเตเนีย เซเนกัล ไปจนถึงซูดาน ในช่วงแรกที่มีการค้นพบต้นชวนชม นักพฤกษศาสตร์ต่างเชื่อว่าชวนชมคือสายพันธุ์ใหม่พันธุ์หนึ่งของต้นลั่นทม จนกระทั่งนักพฤกษศาสตร์ชาวออสเตรียนามว่า Josef August Schultes สามารถพิสูจน์ถึงความแตกต่างระหว่างลั่นทมและชวนชมได้ในอีก 52 ปีต่อมา ชวนชมจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นไม้ดอกสายพันธุ์ใหม่ที่มีคุณลักษณะแตกต่าง แม้ไม่ปรากฏว่าชวนชมเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยใด แต่ก็สันนิษฐานว่านำเข้ามาปลูกในบ้านเราไม่ต่ำกว่า 70 ปีมาแล้ว เชื่อกันว่ามีผู้นำเข้ามาผ่านการเสด็จประพาสต่างประเทศ เนื่องจากมักพบเห็นชวนชมปลูกกันทั่วไปในบริเวณที่ประทับของเจ้านายตั้งแต่สมัยก่อน เท่าที่มีการสืบค้นประวัติได้ ชวนชมนั้นเป็นที่นิยมในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยคาดว่าเจ้านายพระองค์แรกที่นำพันธุ์เข้ามาปลูกในเมืองไทยและให้ชื่อไม้ดอกพันธุ์นี้ว่าชวนชม คือ พระนางเธอลักษมีลาวัณ มเหสีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยปลูกไว้ ณ พระตำหนักลักษมีวิลาศ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าทรงนำพันธุ์มาจากที่ใด
Culture
ยางของต้นชวนชมนั้นมีพิษ หลายพื้นที่ในทวีปแอฟริกาจึงนำยางของไม้ชวนชมมาใช้เคลือบหัวลูกศรเพื่อล่าสัตว์ โดยสำหรับสัตว์ใหญ่นั้นหากโดนพิษชวนชมเข้าไป จะเสียชีวิตภายในรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตรจากจุดที่โดนยิง นอกจากคุณสมบัติที่เป็นยาพิษแล้ว ชวนชมยังมีบทบาทในการเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรซึ่งใช้ในการแพทย์แผนโบราณของทวีปแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นการนำรากมาใช้รักษากามโรคและโรคผิวหนัง นำยางมาใช้รักษาฟันผุหรือแผลติดเชื้อ ชาวโซมาเลียนิยมใช้น้ำต้มจากรากชวนชมรักษาโรคโพรงจมูกอักเสบ ส่วนทางตอนเหนือของเคนย่านั้นใช้น้ำยางชวนชมรักษาเหา และกำจัดปรสิตบนผิวหนังของสัตว์เลี้ยงอย่างอูฐหรือวัว ในแทนซาเนียนั้นมักใช้ต้นชวนชมปลูกเป็นเครื่องหมายของหลุมศพ และในบางครั้งยังใช้ไม้ชวนชมมาทำเป็นเชื้อเพลิงด้วย
Anecdote
ชวนชมมีหลากหลายขนาด ตั้งแต่ต้นเล็กที่มีความสูงไม่ถึง 30 เซนติเมตร ในลักษณะของไม้บอนไซ ไปจนถึงต้นขนาดใหญ่ที่อาจมีความสูงมากกว่า 6 เมตร และมีความกว้างของเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นเกินกว่า 1 เมตร นอกจากเป็นไม้ประดับแล้ว ชวนชมยังมีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพร โดยหากใช้ในปริมาณที่ถูกต้องจะสามารถรักษาอาการหัวใจล้มเหลวได้ ในทางตรงกันข้าม หากใช้ในปริมาณมากเกินไป ชวนชมจะมีฤทธิ์ทำให้หัวใจวายเฉียบพลัน เคยมีการวิจัยพบว่าสารสกัดจากรากของชวนชมอาจช่วยรักษาโรคมะเร็งได้ นอกจากยางแล้ว ส่วนเปลือกของต้นชวนชมก็นับว่าเป็นอันตราย หากสตรีมีครรภ์รับประทานเข้าไป อาจทำให้แท้งได้
Basic Facts
Reference
https://th.wikipedia.org/wiki/ชวนชม
https://wagwalking.com/condition/impala-lily-poisoning
https://sites.google.com/site/wasana242130/prawati-chwnchm
http://tropical.theferns.info/viewtropical.php?id=Adenium+obesum
https://www.prota4u.org/database/protav8.asp?g=pe&p=Adenium+obesum+(Forssk.)+Roem.+&+Schult.