ความงามของดอกไม้ไม่ร่วงโรยไปตามกฎของธรรมชาติ
ขึ้นชื่อว่าดอกไม้ ใครต่อใครก็รู้ว่านี่คือความงามระยะสั้นที่มีวันโรยรา เหี่ยวแห้งไปตามกาลเวลา หลายคนจึงเปรียบดอกไม้เป็นดั่งสารแจ้งเตือนมนุษย์ถึงความไม่จีรัง ว่าความงามเกือบทุกอย่างในโลกล้วนเป็นเพียงมายา ที่เกิดขึ้นมาให้ชื่นชมแค่ชั่วคราวแล้วจากไป
แต่เสียใจ … กฎนี้ใช้ไม่ได้กับบรรพบุรุษชาวไทยของเรา
ย้อนกลับไปร้อยกว่าปีในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งงานฉลองพระชันษาของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เหล่าบรรดาข้าราชบริพารต่างหาของมาถวาย ล้วนแล้วแต่เป็นของดีมีค่าที่หาได้ยากทั้งจากแหล่งใกล้ไกล ฝ่ายเจ้าจอม หม่อมราชวงศ์ สดับ ลดาวัลย์ ผู้มีปรีชาในด้านงานฝีมือ จึงประดิษฐ์ของถวายสร้างสรรค์ไม่เหมือนใคร ด้วยการคัดสรรดอกจำปาที่งามสมบูรณ์และเลือกเก็บในยามเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่ดอกจะแย้มบานกำลังดี นำมาล้างอย่างเบามือไม่ให้กลีบดอกช้ำ จัดเรียงใส่ขวดแก้วให้สวยงาม เทน้ำผสมสารส้มลงไป ปิดฝาให้แน่น แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าถวายฯ ในวันงาน
ทั้งที่ผ่านเวลาไปแล้วหนึ่งเดือน ดอกไม้ในขวดนั้นยังคงผลิบานไม่โรยรา ทำให้สมเด็จฯ ทรงแปลกพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ดอกจำปาดองในครานั้นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนสนใจและชื่นชมกันถ้วนหน้า ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงดำริให้มีการถ่ายทอดวิชาความรู้นี้แก่ผู้คนในวัง จนเกิดความนิยมดองดอกไม้กันอย่างแพร่หลาย และในช่วง พ.ศ. 2442 ยังทรงให้มีการทำดอกจำปาดองไปถวายพระ ณ วัดเบญจมบพิตร เพื่อเป็นพุทธบูชา ว่ากันว่าขวดแก้วในครานั้นยังคงถูกเก็บรักษาเอาไว้อย่างดีในหอพระจนถึงปัจจุบัน และดอกจำปาในขวดนั้นยังคงงดงามไม่ต่างไปจากครั้งที่ทรงนำมาถวาย ทั้งที่ผ่านไปแล้ว 120 ปี
ภูมิปัญญาโบราณของบรรพบุรุษชาวไทยไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะในเรื่องของความช่างคิดประดิดประดอยข้าวของทั้งหลาย ซึ่งการดองดอกไม้ก็เป็นหนึ่งในนั้น ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมถึงต้องเป็น ‘ดอกจำปา’ ทั้งที่บ้านเราก็มีไม้ดอกอยู่มากมาย คงเพราะจำปาคือดอกไม้ที่คนโบราณเชื่อกันว่าเป็นไม้มงคล จึงนิยมปลูกเอาไว้ตามตำหนักเจ้านายในรั้วในวัง และยังเชื่อว่าเป็นของสูงซึ่งเหมาะกับการนำไปถวายพระ อีกทั้งจำปายังมีกลีบดอกที่แข็งเป็นทรงไม่บางจนเกินไป จึงไม่ช้ำง่าย แถมยังมีขั้วดอกเหนียว ทำให้กลีบดอกไม่หลุดลุ่ยออกจากขั้วเมื่อนำมาดองไว้ในขวดเป็นเวลานาน ๆ อีกทั้งเมื่อเวลาผ่านไป ดอกจำปาในขวดจะยิ่งมีสีเข้มขึ้นจนกลายเป็นสีเหลืองดั่งทองดูล้ำค่า บางคนจึงเรียกดอกจำปาดองเช่นนี้ว่า ‘จำปาทอง’ และหากเก็บรักษาเป็นอย่างดีไม่ปล่อยให้มีอากาศผ่านเข้าไป ดอกจำปาที่อยู่ในขวดนั้นจะคงความงามต่อไปอีกชั่วกาลนาน และนี่คือวิธีการหยุดความสวยของดอกไม้เอาไว้ ชนิดที่ไม่ต้องสนใจกาลเวลา
ในต่างประเทศนั้นพบว่ามีการดองดอกไม้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นดอกตูมของลิลลี่ ดอกแมกโนเลีย หรือเดซี่ นำมาดองด้วยเกลือ น้ำส้มสายชู และน้ำตาล บางครั้งอาจมีการเพิ่มกลิ่นหอมด้วยซินนามอน แต่ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ชนิดไหน วัตถุประสงค์การดองดอกไม้ของชาวตะวันตกก็มักเพื่อใช้เป็นอาหารเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการสตาฟความงามให้เป็นนิรันดร์เหมือนบ้านเรา
ปัจจุบัน เริ่มมีการรื้อฟื้นวิชาดองดอกไม้ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่ภูมิปัญญานี้แทบจะสูญหายไปแล้วกับกาลเวลา การดองดอกจำปานั้นไม่มีวัตถุดิบหรือขั้นตอนที่ยุ่งยาก หากต้องใช้ความประณีตละเมียดละไมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของงานฝีมือไทยโบราณ เริ่มจากการเลือกเก็บดอกจำปาในยามเช้า ใช้น้ำฝนกลางหาวในการดอง (หากจะใช้น้ำประปาต้องรองทิ้งเอาไว้กว่าหนึ่งเดือนเพื่อให้คลอรีนระเหยออกไปจนหมด) นำน้ำไปต้มจนเดือดแล้วใส่สารส้มลงไป โดยต้องกะปริมาณให้พอดี เนื่องจากหากใส่มากไปสารส้มจะตกผลึกหรือเกาะตามกลีบดอกไม้ แต่หากใส่น้อยเกินไป ดอกไม้จะกลายเป็นสีดำคล้ำเพราะขึ้นรา สารส้มนั้นมีคุณสมบัติในการยับยั้งแบคทีเรียจึงทำให้ดอกไม้ไม่เน่าเสียตามธรรมชาติ และหากเผลอให้อากาศผ่านเข้าไปได้ ดอกไม้ที่ดองไว้จะเกิดความเสียหาย และนั่นคือจุดจบความงามอันเป็นอมตะของดอกไม้ดองของคุณ
และถ้าอยากได้รูปทรงที่เป็นระเบียบดังใจ ก็ต้องใช้ทางมะพร้าวค่อย ๆ บรรจงเสียบเรียงจัดแจงให้ได้รูปร่างตามที่ต้องการ หลังการดองต้องปิดฝาให้สนิทห้ามโดนอากาศ หากพ้นสามวันไปแล้วดอกไม้ในขวดยังไม่เปลี่ยนเป็นสีดำ ก็ถือว่าการดองดอกไม้สำเร็จเรียบร้อยดี และผลงานที่ได้จะมีความสวยงดงามตราบนานเท่านาน
ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์จะหยุดความสวยของดอกไม้เอาไว้ได้ โดยที่ความงามนั้นไม่ร่วงโรยไปตามกฎของธรรมชาติ หากความสามารถและความช่างคิดของคนไทยก็กลับต้านสัจธรรมแห่งกาลเวลาเอาไว้อย่างน่าอัศจรรย์ จนสร้างดอกไม้ให้เบ่งบานอยู่ได้เป็นร้อยปี ใครกันนะที่บอกว่าความงามอันนิรันดร์ไม่มีอยู่จริง
Sudsaijai