Skip to content

Floral Inspiration Edutainment

RakDok (รักดอก)

บานไม่รู้โรย


“มีดวงตะวันเหมือนเป็นผ้าห่ม เรายังมีสายลมอุ่นสบาย มีเธออยู่เคียงฉันทุกวันช่างสดใส สัมพันธ์ที่บานดั่งดอกไม้ไม่รู้โรยราสักที” - เพลงบานไม่รู้โรย โดย ปนัดดา เรืองวุฒิ เนื้อร้องโดย ประชา พงศ์สุพัฒน์/ พนเทพ สุวรรณะบุณย์

Meaning

Till death do us part
ฉันจะรักเธอจนวันที่ฉันร่วงโรย
    หากมีใครสักคนให้คำมั่นสัญญารักด้วยดอกกุหลาบ เขาคนนั้นอาจรักคุณสุดหัวใจ หากแต่ใครปรารถนาจะสาบานถึงรักที่มั่นคงไม่มีวันโรยรา ก็เห็นจะมีแต่ Globe Amaranth หรือดอกบานไม่รู้โรยเท่านั้นที่เหมาะสม ในภาษาดอกไม้หรือในเชิงวรรณกรรมเจ้าไม้หน้าตากระจุ๋มกระจิ๋มสีสดสวยดอกนี้มีความหมายว่า รักที่ไม่มีวันตาย หรือความรักที่เป็นนิรันดร์ ในท่อนหนึ่งของเพลงบานไม่รู้โรยที่โดย คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ร้องไว้ว่า ดอกบานไม่รู้โรย ไม่รู้โรยโดยสูงคุณค่า  แม้ใช่ดอกไม้ที่ใช้ประดับประดา ก็เป็นดอกไม้บูชา เป็นมาลาร้อยมาลัย เปรียบเอ๋ยกับความรัก แรกเริ่มสมัครรักจริงใจ ไม่ซ่อนเร้นเล่ห์ลวงใดใด รักเกิดจากใจ ไม่มีวันร้างวันโรย แต่ถึงจะได้ชื่อว่าบานไม่รู้โรย แต่สรรพสิ่งในธรรมชาติมีเกิดก็ย่อมมีดับ ความรักที่เบ่งบานลึกซึ้งจึงอาจหมายถึง การร่วงโรยลาลับเมื่อวันฉันสิ้นใจ

Strawberry fields in your backyard
ทุ่งสตรอว์เบอร์รีหลังบ้าน
    หลายคนอาจไม่นิยมปลูกดอกบานไม่รู้โรยไว้ในบ้านแม้จะเป็นไม้ชื่อมงคล เนื่องด้วยมักติดว่าเป็นดอกไม้ที่ใช้ร้อยมาลัยหรือทำพานบูชามากกว่า ยังไม่นับถึงเฉดสีที่อาจจะไม่ได้น่ารักเหมือนไม้ยอดนิยมอื่น ๆ แต่จริง ๆ แล้วในต่างประเทศมีดอกบานไม่รู้โรยสายพันธุ์หนึ่งที่เรียกว่า Gomphrena haageana ที่มีสีแดงสดเหมือนสตรอว์เบอร์รีลูกย่อม ๆ จนมีอีกหนึ่งชื่อเรียกว่า Strawberry Fields ยามออกดอกสีแดงสดใสตัดกับใบเล็ก ๆ สีเขียว ก็พลันเปลี่ยนสวนหลังบ้านให้ดูสดชื่นสดใสไม่แพ้ดอกไม้สายพันธุ์กลีบบางเลยทีเดียว

History

    เพราะหน้าตาเหมือนกระดุมเม็ดกลม บานไม่รู้โรยจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า Bachelor's button เจ้ากระดุมหนุ่มโสดเม็ดนี้มีถิ่นกำเนิดจากแถวอเมริกากลางอย่าง บราซิล กัวเตมาลา และปานามา ก่อนจะแพร่หลายไปทั่วโลก ในไทยเรามักจะเห็นเพียงสีขาวและม่วงเท่านั้น ทว่าจริง ๆ แล้วดอกไม้ชนิดนี้ยังมีสีสันอื่น ๆ อย่างแดง ชมพู ส้ม ไปจนถึงม่วงไลแลค ตามบันทึกของหมอบรัดเลย์ชี้ให้เห็นว่าบานไม่รู้โรยได้แพร่เข้ามายังประเทศไทยนับร้อยปีที่แล้ว ทั้งผู้คนยังรู้จักนำมาใช้ประโยชน์ในทางยาสมุนไพร โดยทั้งดอก ต้น และรากให้คุณประโยชน์ที่แตกต่างกัน ผู้คนพื้นถิ่นในภาคต่าง ๆ มีชื่อเรียกดอกไม้ชนิดนี้แตกต่างกัน อาทิ ภาคเหนือเรียกว่าดอกกะล่อม ภาคใต้เรียกว่าตะล่อม ขณะที่ภาคอีสานเรียกว่าดอกสามปีบ่เหี่ยว

Culture

    เพราะความหมายที่เป็นมงคล ดอกบานไม่รู้โรยจึงมักถูกนำมาใช้ในงานมงคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะร้อยเป็นมาลัย อุบะ หรือใช้จัดพานพุ่มบูชาโดยเฉพาะในงานไหว้ครู ในประเทศเนปาลเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า Makhamali เป็นดอกไม้สำคัญที่ใช้ร้อยมาลัยบูชาใน Bhai Tika วันสุดท้ายของเทศกาล Tihar เทศกาลแห่งแสงสว่างของชาวฮินดูที่คนไทยมักรู้จักในชื่อ ดิวาลี โดยน้องสาวมักคล้องพวงดอกไม้ชนิดนี้รอบคอของพี่ชายหรือน้องชายเพื่อขอพรต่อท้าวยมราชให้ปกป้องคุ้มครองพวกเขาเหล่านั้นให้มีชีวิตยืนยาว ในตรินิแดดผู้คนนำดอกไม้นี้ไปต้มเป็นชาเพื่อใช้รักษาอาการไข้หวัดใหญ่ ไอ และท้องเสียในเด็ก

Anecdote

    ดอกบานไม่รู้โรยมีกลีบดอกที่แข็งทั้งยังไม่โรยร่วงง่าย ๆ แม้ว่าดอกจะแก่จนแห้งแล้วก็ตาม ว่ากันว่าถ้าดอกบานในฤดูใบไม้ผลิ ถ้ากลับมาดูอีกทีในฤดูใบไม้ร่วง บานไม่รู้โรยดอกเดิมก็ยังคงเบ่งบานอยู่เช่นนั้น

Basic Facts

Scientific Name: Gomphrena globosa
Family: Amaranthaceae
Colors: แดง ชมพู ขาว ม่วง ส้ม
Seasons: ทุกฤดู
Length of time to grow: บานไม่รู้โรยเป็นดอกไม้ที่ปลูกง่าย สามารถเติบโตได้ในเกือบทุกสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ชอบแดดจัด ไม่จำเป็นต้องใช้ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มากนักก็แตกยอดงดงามได้ ทั้งยังทนแล้งอย่างทรหด แม้จะรดน้ำเพียงสัปดาห์ละครั้งก็สามารถเจริญงอกงามได้ หากต้องการให้ได้ดอกมาก ๆ ควรเด็ดยอดเมื่อต้นสูงได้สัก 10 นิ้ว

Reference