‘ดอกผกากรอง’ ขึ้นชื่อด้านสีสันเจิดจ้าเฉิดฉายกลางสวนแดดจัด เพราะกําเนิดจากถิ่นพื้นเมืองแถบทวีปอเมริกาใต้ต่อมาจึงมีผู้นําไปปลูกตกแต่งสวนในที่อื่น ๆ จนกลายสถานะเป็นพืชรุกรานแถบเขตร้อน ดอกผกากรองมีคุณประโยชน์ มากมายพอกันกับพิษอันร้ายเหลือถึงแก่ชีวิต จึงได้มาซึ่งฉายา
Weeping Lantana – บุปผาคร่ำครวญ
ดอกผกากรอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ‘แลนทานา คามารา’ (Lantana Camara) และชื่อท้องถิ่นมากมายหลายคําเรียก ขะจาย มะจาย ตาปู (แม่ฮ่องสอน) คําขี้ไก่ (เชียงใหม่) ดอกไม้จีน (ตราด – ชุมพร) ขีี้กา (ปราจีนบุรี – ประจวบคีรีขันธ์) ดอกสามสิบ (จันทบุรี) ยี่สุ่น (ตรัง) เบงละมาด หญ้าสาบแร้ง (ภาษาถินเหนือ) ก้ามกุ้ง เบญจมาศป่า (ภาคกลาง) แม้ในสําเนียงจีนแต้จิ๋วว่า โงเซกบ๊วย กับ อู่เซ่อเหมย หม่า อิงตาน ของชาวจีนกลาง
ทุกวันนี้เรานิยมปลูกผกากรองอย่างไม้ประดับ โดยปลูกเป็นแถวเป็นแนว หรือปลูกเป็นกลุ่ม (หรือพุ่ม) ก็สามารถใช้ตกแต่งกั้นแนวรั้วอย่างฝรั่งเรียก ‘Hedge Flower’ แปลตรงตัวว่า ‘พุ่มรั้ว’ อย่างดี
ในยุคหนึ่งผู้คนชมชอบลักษณะดอกซึ่งออกช่อเรียงตัวกลม ๆ มีหลายสีเช่น ขาว เหลือง ส้ม แดง (หรืออาจมีสองสีบนดอก ๆ เดียว) ของดอกผกากรองอย่างมาก กระทั่งนิยมตั้งชื่อบุตรสาวภายใต้บุคลิกสตรีผู้โฉบเฉี่ยว กระฉับกระเฉง และทันสมัย
แต่ ‘ดอกผกากรอง’ แม้เปี่ยมด้วยคุณประโยชน์แต่ก็แฝงโทษมหันต์ ประโยชน์คือช่วยขับลม ลดอาการบวม แก้อักเสบ ปวดท้อง อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดฟัน คางทูม
ส่วนโทษานุโทษนั้นคือ ห้ามรับประทานผลห่าม (แก่แต่ยังไม่สุก) เพราะในผกากรองมีสารพิษชื่อ ‘Lantadene A B และ C โดยสารจําพวกนี้มีฤทธิ์ให้อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อทํางานไม่ประสานกัน ส่งผลมึนงง วิงเวียน อาเจียน ท้องเดิน จนกระทั่งไม่สามารถทรงตัวยืนอยู่ได้สุดท้ายก็จะหมดสติจนระดับลมหายใจอ่อนลง ๆ และอาจเสียชีวิตในที่สุด
เรื่องดังกล่าวนี้มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งปฏิเสธไม่ได้
ไม่ปรากฏหลักฐานบ่งชัดว่า ‘ดอกผกากรอง’ นําเข้ามาแพร่พันธุ์ในไทยตั้งแต่เมื่อใด แต่ผู้รู้สันนิษฐานว่า คงเพิ่งนําเข้าเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง เพราะนิยมปลูกรอบรั้วเขตพระราชฐาน นัยว่าอาศัยสีสันของดอกเสริมความงดงาม ในขณะเดียวกันก็ช่วยกําจัดศัตรูพืชกล้ำกรายผักผลต่าง ๆ ในเรือกสวน เนื่องจากใบผกากรองเป็นพิษต่อระบบประสาทของแมลงจําพวกหนอนและแมลงแทบทุกชนิด
RakDok