ดอกเก๊กฮวยมาจากไหน และเหตุใดเราจึงควรต้มเก๊กฮวยกินเอง
เก๊กฮวยถ้วยใหญ่ ๆ แช่เอาไว้อยู่ในตู้เย็น…
ไม่รู้ว่าเด็ก ๆ ยุคนี้ยังร้องเพลงนี้ช่วงกีฬาสีอยู่หรือเปล่า แต่นอกจากเพลงแล้ว เครื่องดื่มสีเหลืองสดใสอย่างเก๊กฮวย ก็เป็นสิ่งที่คุ้นหูคุ้นลิ้นของหลาย ๆ คนตั้งแต่เด็ก
ถ้าจะให้เปรียบ เก๊กฮวยคงเป็นเครื่องดื่มที่สั่งโดยไม่ต้องคิดเหมือนกับที่กะเพราเป็นอาหารที่เราสั่งกันโดยไม่ต้องคิด โดยเฉพาะคนที่เกิดในครอบครัวไทย-จีนอย่างเรา น้ำจับเลี้ยงกับน้ำเก๊กฮวยเป็นสองเครื่องดื่มที่เราคุ้นเคยมาตลอด พูดไปแล้วอาจดูเป็นการเหมารวม แต่เชื่อว่านอกจากน้ำเปล่าหรือน้ำอัดลม คงมีหลายคนที่สั่งเก๊กฮวยเวลาไปร้านอาหารตามสั่งหรือร้านอาหารจีน เก๊กฮวยเป็นเครื่องดื่มที่เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินก็ดี เพราะรสหวานอร่อย แถมยังมีสรรพคุณแก้ร้อนในอีกด้วย แต่ถึงจะเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร เก๊กฮวยก็ไม่ได้มีประโยชน์เสมอไปถ้าไม่ได้ต้มกินเอง เพราะที่จริงแล้ว เก๊กฮวยหวาน ๆ ที่เราดื่มกันใส่น้ำตาลในปริมาณที่มากเกินกว่าจะเรียกว่าดีต่อสุขภาพได้ ยิ่งถ้าเป็นเก๊กฮวยแปะยี่ห้อที่ขายในร้านสะดวกซื้อ ปริมาณน้ำตาลที่ใส่นั้นเยอะจนควรจะเรียกว่าน้ำหวานสำหรับดื่มเพื่อความเพลิดเพลินมากกว่า เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ดี อยากให้ได้สรรพคุณเต็ม ๆ ของเก๊กฮวย แนะนำให้ต้มดื่มเองที่บ้านจะดีที่สุด
น้ำเก๊กฮวยที่เรากินกันนั้นทำมาจาก ดอกเก๊กฮวย หรือจวี๋ฮวา ซึ่งเป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของดอกเบญจมาศสวน (Chrysanthemum morifolium Ramat.) ที่มีดอกสีขาว และดอกเบญจมาศหนู (Chrysanthemum indicum Linn.) ซึ่งเป็นพันธุ์ดอกสีเหลือง ดอกเบญจมาศหรือดอกเก๊กฮวยมีอยู่หลากสายพันธุ์ แต่มีชื่อภาษาอังกฤษเรียกรวม ๆ ว่า Chrysanthemum ดังนั้นใครที่เคยอ่านเรื่องประเพณีการให้ดอกไม้ในงานศพของประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ จึงไม่ต้องงงไป เพราะว่าดอกเก๊กฮวยที่เรานำมาต้มกิน กับดอกไม้ที่ใช้ในงานศพนั้นเป็นดอกเบญจมาศเหมือนกัน เพียงแต่ต่างสายพันธุ์กันเท่านั้นเอง
ดูจากชื่อจวี๋ฮวาแล้ว คงไม่น่าแปลกที่เก๊กฮวยเป็นพืชที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ก่อนจะแพร่ขยายไปตามประเทศต่าง ๆ ทั้งในแถบเอเชียและยุโรป สรรพคุณหลัก ๆ ที่ทุกคนรู้จักกันดีของเก๊กฮวย คือช่วยดับพิษร้อน แก้ร้อนใน แก้กระหาย และแก้ไข้ นอกจากนี้แล้ว สารฟลาโวนอยด์และฟีนอลในเก๊กฮวยยังช่วยควบคุมระบบน้ำตาลในเลือดได้ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน รวมถึงมีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบ ทำให้เก๊กฮวยสดสามารถนำมาใช้พอกเพื่อรักษาแผลได้ โดยนำไปล้างให้สะอาดและบดผสมน้ำดื่ม แล้วจึงใช้กากที่เหลือมาพอกที่แผล ส่วนใครที่กังวลเรื่องผมร่วงหรือผมขาว ยังสามารถดื่มเก๊กฮวยเพื่อช่วยบำรุงเส้นผมให้ดำและเงางามในระยะยาวได้อีกด้วย ทั้งนี้ หากพูดตามแพทย์แผนจีน การที่เก๊กฮวยสามารถแก้พิษร้อนได้ เป็นเพราะมีฤทธิ์เย็น ดังนั้นใครที่มีอาการท้องเสียง่าย จึงควรระวังไม่ดื่มมากเกินไป และเช่นเดียวกับสมุนไพรต่าง ๆ ใครที่มีโรคประจำตัวหรือจำเป็นต้องทานยาประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย
แน่นอนว่า แหล่งซื้อดอกเก๊กฮวยตากแห้งสำหรับนำมาต้มกินแก้ร้อนใน ย่อมหนีไม่พ้นเยาวราช เก๊กฮวยที่มีขายในเยาวราช เป็นดอกเก๊กฮวยตากแห้งที่มาจากประเทศจีน สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องยาจีน ซึ่งดอกเก๊กฮวยเหล่านี้จะไม่ได้มาเป็นถุงแล้วตักชั่ง แต่จะห่อมาแล้วเรียบร้อยอย่างดีในห่อกระดาษ มัดด้วยเชือก พร้อมชั่งไว้เสร็จสรรพ มีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ โดยคุณภาพก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละยี่ห้อ แต่ละเกรด สามารถสังเกตได้จากราคาที่ลดหลั่นกันไป สำหรับเก๊กฮวยดอกสีขาวที่นิยมนำมาต้ม คือเก๊กฮวยจากเมืองหังโจว ประเทศจีน
อีกหนึ่งวิธีสังเกตเก๊กฮวยที่คุณภาพดี คือให้เลือกดอกที่ไม่เก่า และไม่มีกลิ่นอับ สามารถดูจากสีดอกที่จะต้องเป็นสีออกเหลืองแม้จะตากแห้งมา รวมถึงไม่เป็นสีดำคล้ำ ที่สำคัญคือต้องไม่จับแล้วกลีบดอกร่วงออกมาเป็นผง ๆ เวลาต้มถึงจะได้สรรพคุณที่ดีของเก๊กฮวย ข้อสำคัญคือให้เลือกเก๊กฮวยที่มาจากดอกเบญจมาศหนูหรือเบญจมาศสวนเท่านั้น เนื่องจากเก๊กฮวยสายพันธุ์อื่นหรือเก๊กฮวยป่านั้นไม่สามารถนำมาต้มดื่มได้ ส่วนวิธีต้มเก๊กฮวยก็ไม่ยาก เพียงแค่ตั้งน้ำให้เดือด ใส่ดอกเก๊กฮวยลงไปแล้วปิดฝา ปิดแก๊สทิ้งไว้ ก็จะได้น้ำเก๊กฮวยพร้อมดื่ม บางบ้านอาจจะล้างน้ำก่อนหนึ่งรอบเพื่อล้างฝุ่นและสิ่งสกปรกที่ติดมา แต่บางที่อาจแค่นำดอกไปเขย่าในตะแกรง ก่อนนำไปต้มในน้ำ ส่วนใครที่ต้องการให้มีรสออกหวานเวลาทำเองที่บ้าน แนะนำว่าใช้น้ำตาลกรวดช่วยเพิ่มความหวานแทนน้ำตาลทรายขาวจะดีกว่า
นอกจากดอกเก๊กฮวยจากจีนแล้ว สมัยนี้ยังมีเก๊กฮวยอินทรีย์ที่ปลูกตามแนวทางเกษตรอินทรีย์เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งก็ไม่ใช่เก๊กฮวยจากที่ไหนไกล เพราะว่าเก๊กฮวยอินทรีย์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย ก็คือเก๊กฮวยจากจังหวัดเชียงใหม่ของเรานี่เอง วิธีดูสามารถสังเกตได้จากสีของดอกเก๊กฮวย เก๊กฮวยจากเชียงใหม่จะมีสีที่ต่างจากเก๊กฮวยจีนซึ่งเป็นเบญจมาศสวนดอกสีขาว ในขณะที่เก๊กฮวยที่ปลูกในไทยหลัก ๆ จะเป็นเบญจมาศหนู ทำให้ดอกเก๊กฮวยที่ได้จะออกเป็นสีเหลืองอ่อน เมื่อต้มแล้วกลิ่นจะไม่หอมเท่าเก๊กฮวยจีนและมีรสออกขมกว่า แต่ว่าให้สรรพคุณไม่ต่างกัน
เรื่องเล่าระหว่างจิบชา(เก๊กฮวย)…
ด้วยอิทธิพลที่ได้รับมาจากประเทศจีน ดอกเบญจมาศจึงเป็นหนึ่งในดอกไม้ที่มีความสำคัญในวัฒนธรรมและความเชื่อของชาวญี่ปุ่น โดยการให้ความสำคัญต่อดอกเบญจมาศ หรือดอกคิกุที่เด่นชัดที่สุดในวัฒนธรรมจากแดนอาทิตย์อุทัย เห็นจะเป็นสัญลักษณ์ดอกเบญจมาศ 16 กลีบ ซึ่งใช้เป็นตราจักรพรรดิญี่ปุ่น นอกเหนือจากนี้ เนื่องจากเบญจมาศถือว่าเป็นดอกไม้ประจำเดือนกันยายน หรือเดือน 9 ในวัฒนธรรมจีน อิทธิพลจากจีนต่อญี่ปุ่นเกี่ยวกับดอกเบญจมาศ จึงยังสะท้อนให้เห็นความเชื่อของชาวญี่ปุ่น ว่าการดื่มเหล้าสาเกใส่ดอกเบญจมาศ ในคืนวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 จะเป็นยาอายุวัฒนะที่ทำให้ผู้ดื่มดูอ่อนเยาว์ตลอดไป ในส่วนของประเทศไทยเอง หลักฐานเกี่ยวกับดอกเบญจมาศนั้นมีบันทึกอยู่ทั้งในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ พ.ศ. 2416 และในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เรื่องอิเหนา
ช่วงนี้ใครอยู่บ้าน ลองเปลี่ยนบรรยากาศจากดื่มกาแฟ มาจิบชาเก๊กฮวยอุ่น ๆ ทานคู่กับของว่างยามบ่ายดูสิคะ
อ้างอิง
Scientific American, July 9, 1982 p. 23
https://www.jstor.org
https://www.jstor.org