ช่อดอกไม้จิ๋วในงานแต่งเคยเป็นดั่งเครื่องราง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าดอกไม้เป็นสิ่งสำคัญในงานแต่งงาน นอกจาก Bouquet ช่อดอกไม้ของเจ้าสาวที่แม้ลอยขว้างเพียงเสี้ยววินาที แต่ก็เฉิดฉายเป็นที่จับตามองดั่งนางเอกในงานแล้ว
สังเกตไหมว่ายังมีช่อดอกไม้เล็กๆ ที่ติดบนปกเสื้อเพื่อนเจ้าบ่าว และผูกติดข้อมือเพื่อนเจ้าสาวอยู่ตลอดงาน ช่อดอกไม้เหล่านี้มีชื่อเรียกเช่นกันเป็นภาษาฝรั่งเศส และมีเรื่องเล่าความเป็นมายาวนาน เดินทางไกลมาจากยุโรปเลยทีเดียว
Boutonniere (บูโทเนียร์) แปลว่า buttonhole หรือ รังดุม เป็นช่อดอกไม้ขนาดเล็กที่นิยมติดบนปกเสื้อของสุภาพบุรุษ
Corsage (คอร์สาจ) แปลว่า ชุดท่อนบนของสุภาพสตรี ผู้หญิงสมัยก่อนนิยมติดช่อดอกไม้กับเสื้อผ้าท่อนบน จึงเรียกว่า bouquet de corsage ช่อดอกไม้ของคอร์สาจ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ถูกตัดทอนให้เรียกง่ายเหลือแค่ Corsage รูปแบบช่อที่นิยมกันมาก คือ กำไลดอกไม้ผูกข้อมือในงานแต่งงาน
ตั้งแต่สมัยโบราณนานมา ชาวกรีกเชื่อว่ากลิ่นหอมของดอกไม้และสมุนไพรช่วยปัดเป่าสิ่งร้ายออกจากตัวได้ ความเชื่อนี้ได้ถูกส่งต่อมายังชาวยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 16-17 ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างประดับดอกไม้ที่ชุดเพราะเชื่อว่าดอกไม้เป็นสิ่งมงคล ช่วยให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บและวิญญาณชั่วร้าย หากปักใกล้หัวใจได้ยิ่งดี ในงานมงคลซึ่งเป็นวันสำคัญของชีวิตเฉกเช่นงานแต่งงาน ไม่ใช่แค่เจ้าบ่าวเจ้าสาวเท่านั้นที่ควรติดดอกไม้ที่ชุดเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่แขกเหรื่อในงานล้วนควรติดดอกไม้เพื่อความปลอดภัยจากโรคภัยและวิญญาณร้าย ไม่ใช่แฟชั่น กลิ่นหอม คือ ที่พึ่งทางใจและเกราะป้องกันภัยในวันสำคัญ
กาลเวลาผันผ่าน ความหมายของช่อดอกไม้เหล่านี้เปลี่ยนไป เมื่อเริ่มมีความรู้ทางการแพทย์มาช่วยรักษาโรคร้าย กลิ่นหอมของเกสรที่เคยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจก็แปรเปลี่ยนหน้าที่ผลิบานกลายเป็นความสวยงามทางแฟชั่น
ช่วงศตวรรษที่ 18-19 เสื้อคลุมมีปกที่เรียกว่า Frock Coat ของสุภาพบุรุษอังกฤษเป็นที่นิยมและแพร่หลายมายังฝรั่งเศส เริ่มมีการประดับดอกไม้ขนาดใหญ่ที่รังดุมบนของเสื้อโค้ต เป็นที่รู้กันว่าสำหรับสุภาพบุรุษยุคโรแมนติกที่พิถีพิถันในการแต่งตัวนั้น ดอกไม้บนปกเสื้อมีความสำคัญไม่แพ้การเลือกสวมรองเท้าที่ขัดอย่างดีสักคู่ พกสายคล้องนาฬิกาที่ดูโก้หรู หรือ เลือกสูบซิการ์อย่างดีเลย ภาพยนตร์ รูปวาด และรูปถ่ายในงานแต่งงานล้วนมีภาพช่อดอกไม้สดเล็กๆ สีสันสดใสตัดกับสีสูทที่เงียบขรึมของสุภาพบุรุษยุคก่อน ไอดอลในภาพยนตร์ของคนยุคนั้น ได้แก่ Cary Grant และ Clark Gable ผู้สวมใส่ชุดสูทสีดำพร้อมดอกไม้ติดอกเป็นประจำ ด้วยยุคสมัยนั้นที่ผู้ชายมักใส่สูทในชีวิตประจำวันเป็นปกติกิจวัตร ดอกไม้ติดอกจึงเป็นที่นิยมมากทั้งในโอกาสงานจริงจังและกึ่งจริงจัง เหล่าสุภาพบุรุษยังมักแสดงความเคารพต่อครอบครัวของฝ่ายหญิงด้วยการมอบ Corsage ให้ รวมทั้งติดดอกไม้ให้เป็นของขวัญคู่เดทในงานเต้นรำด้วยเช่นกัน Corsage จึงเปรียบได้กับสิ่งแทนใจ
สำหรับสุภาพสตรีนั้น แม้ Corsage แบบดั้งเดิมในยุควิคตอเรียนจะนิยมติดที่อกข้างซ้ายเหมือนผู้ชาย แต่ด้วยสรีระความงามของผู้หญิงที่แตกต่างหลากหลายเหมือนดอกไม้หลากสายพันธุ์ แฟชั่นชุดราตรีจึงมีแบบให้เลือกสรรมากมายตามไปด้วย รวมทั้งเผยผิวมากขึ้นตามยุคสมัย ทั้งเกาะอก สายเดี่ยว ปาดไหล่ ทำให้การประดับดอกไม้แค่ที่อกข้างซ้ายอาจไม่เหมาะกับชุดราตรีบางชุดอีกต่อไป รูปแบบ Corsage ของผู้หญิงมีการปรับเปลี่ยนให้หลากหลายตามชุด เลื้อยประดับได้ทั่วตัวดั่งเถาวัลย์ จากแค่ติดอก ก็นำมาติดผม ผูกรอบข้อมือไปจนถึงข้อเท้า สีสันของดอกไม้และริบบิ้นมักเลือกให้เข้ากันกับชุดราตรีและเครื่องประดับอื่นๆ ทั้งรองเท้าและกระเป๋าถือ รวมทั้งยังควรเป็นหนึ่งเดียวกับบุคลิกของคนสวมด้วย อาจเป็นเพราะผู้หญิงมีความประณีตและใส่ใจรายละเอียดมาก ชนิดและสีสันของดอกไม้ที่นำมาทำ Corsage จึงมักมีความหมายและนัยยะสำคัญ ในฝั่งยุโรปนั้น หากเป็นงานแต่งงาน ดอกไม้ที่นำมาจัดช่อเป็น Corsage สำหรับมอบแด่แม่และยาย นิยมเป็นดอกแมคโนเลียเพื่อสื่อถึงความเคารพ ส่วนวันแม่นิยมใช้ดอกกล้วยไม้ สื่อถึงความรักที่บริสุทธิ์ ในงาน Baby Shower
คุณแม่มักประดับ Corsage เป็นสีชมพูหรือฟ้าตามเพศของเด็กน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก หากเป็นงานจบการศึกษา สีสันของ Corsage มักปรับไปตามธีมที่กำหนดของชั้นเรียน ปัจจุบันดอกไม้ที่นิยมมาติดบนชุดมักเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมและไม่เหี่ยวถ้าไม่ได้รับน้ำ เช่น ดอกกล้วยไม้ การออกแบบมีการประยุกต์ใช้ใบไม้มาควบคู่กับดอกไม้ด้วย
ไม่ว่าจะเป็น Boutonniere สำหรับผู้ชาย หรือ Corsage สำหรับผู้หญิงช่อดอกไม้เหล่านี้ล้วนมีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำที่หอมหวนทั้งงานแต่งงาน งานฉลองจบการศึกษา งานพรอม งานวันเกิด หลังวันงานผู้คนนิยมเก็บช่อดอกไม้เล็กๆ นี้ไว้เพื่อเป็นความทรงจำ แม้ดอกไม้จะโรยราไปตามกาลเวลา แต่ความทรงจำยังหอมนานตรึงใจเป็นตัวแทนของความหอมหวานของชีวิตในวันสำคัญ