ปีบ
Meaning
The smell of the North
กรุ่นกลิ่นแดนดินล้านนา
แม้ละครไทยแนวพีเรียดที่โด่งดังข้ามปีอย่าง ‘กลิ่นกาสะลอง’ จะจบลงไปแล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่อาจลืมชื่อสองศรีพี่น้องตัวละครหลักในเรื่อง กาสะลอง-ซ้องปีบ ไปได้ ไม่ว่าจะด้วยลักษณะนิสัยที่ต่างกันสุดขั้วภายใต้ใบหน้าพิมพ์เดียวกันจะทำให้คนเข้าใจตัวละครทั้งสองนี้ไปอย่างไร ทว่าแท้จริงแล้ว ดอกกาสะลองก็เป็นเพียงอีกชื่อหนึ่งในภาษาล้านนาของดอกปีบ เรามักจะเห็นดอกปีบปรากฏในวรรณคดีไทยบ้างประปราย ทว่าเจ้าดอกไม้ก้านยาวสีขาวพราวพร่างระย้าเต็มต้นดอกนี้กลับเป็นที่รู้จักมากกว่าในฐานะดอกกาสะลองของเมืองเหนือ ไม่ว่าจะเป็นในบทเพลง หรือวรรณกรรมก็ตามที ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกลิ่นหอมเย็นโชยชื่นของดอกไม้ดอกน้อยนั้นสอดคล้องกับลักษณะเย็นรื่นชื่นใจของผู้คนจากแดนล้านนาก็เป็นได้
Under the shade of the tree
ร่มเงาแห่งชีวิต
ลำต้นของปีบสูงใหญ่ แผ่กิ่งก้านใบชอุ่มให้ความร่มรื่นชื่นเย็นแก่คนที่อยู่ใกล้ ดอกเองก็มีสีขาวพิสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมฟุ้งช่วยบรรเทาจิตใจผู้คนให้คลายจากความทุกข์ จึงไม่น่าแปลกใจที่สภาการพยาบาลจะยกย่องให้ปีบเป็นดอกไม้สัญลักษณ์แห่งวิชาชีพพยาบาลตั้งแต่ปี 2534 เพราะไม้ที่มีจิตใจอดทนแม้ในภาวะแห้งแล้ง ก็เหมือนนางฟ้าในชุดขาวที่ไม่ระย่อต่อการดูแลผู้ป่วยตามหลักเมตตานั่นเอง
History
ปีบเป็นไม้พื้นถิ่นของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่อาจสูงได้ราว 10 – 20 เมตร ลักษณะที่โดดเด่นที่สุดคือดอกสีขาวนวลรูปทรงคล้ายแตรขนาดเล็กที่ห้อยยาวลงมาเป็นสายจากลำต้นเหมือนดาวตก ส่งกลิ่นหอมฟุ้งกำจายตลอดค่ำคืนจนรุ่งสาง พบได้มากในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งทั้งทางภาคเหนือ อีสาน ตะวันตก ไปจนถึงฝั่งพม่า ชื่อภาษาอังกฤษของปีบคือ Millingtonia นั้นตั้งตามเซอร์โธมัส มิลลิงตัน นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ บ้างก็เรียก Indian cork tree เพราะเปลือกของลำต้นสามารถนำไปใช้ทำจุกคอร์ก ด้วยความที่ปีบยังเป็นไม้สำคัญของหลายท้องที่ จึงมีชื่อภาษาถิ่นที่หลากหลายกันไป เช่น กาสะลอง (ภาคเหนือ) ก้องกลางดง (ภาคกลาง) กางของ (ภาคอีสาน) และเต็กตองโพ่ (ภาษากะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
Culture
ผู้คนเชื่อว่าปีบเป็นไม้มงคลหากปลูกไว้ในบ้านจะช่วยให้เก็บเงินเก็บทองได้เยอะ เนื่องจากคำว่าปีบหมายถึงภาชนะ ทั้งยังช่วยให้ชื่อเสียงดีงามของผู้อาศัยในบ้านขจรขจายสู่ภายนอก ทว่าประโยชน์ที่แท้จริงของปีบที่หมอล้านนาและคนโบราณทราบดีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ก็คือสรรพคุณในทางยาของไม้ชนิดนี้นั่นเอง ดอกปีบตากแห้งสามารถชงดื่มเป็นยา มวนสูบแก้หืดหอบ ไซนัสอักเสบ ทั้งยังสามารถรักษาโรคริดสีดวง งานวิจัยพบว่าดอกปีบมีสาร Hispidulin ที่ช่วยในการขยายหลอดลมได้ดียิ่งกว่ายาแผนปัจจุบัน ทั้งยังไม่มีพิษ ต้นปีบยังมีคุณสารพัดประโยชน์ ลำต้นสามารถนำไปใช้ทำเครื่องเรือน ขณะที่ใบใช้มวนยาสูบแก้ขัดแทนกระดาษได้อีกด้วย
Anecdote
ในภูมิปัญญาชาวไทใหญ่สามารถใช้ต้นกาสะลองเป็นวัตถุดิบสำคัญในการถอนฤทธิ์แอลกอฮอล์หรือเลิกเหล้าได้ โดยสับแก่นลำต้นหรือกิ่งแก่ให้ละเอียดนำมาต้มกิน หรือนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาบดเป็นผงผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนกินต่อเนื่องอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ จะช่วยลดอาการลงแดง มือสั่น ใจสั่นยามอยากเหล้าได้