Photo Credit : https://jackbrummet.blogspot.com/2015/10/william-s-burroughs-vs-george-edgerly.html
เมื่อดอกไม้กลีบบางสกัดกั้นสงคราม
‘ถ้ากระสุนทำให้โลกสุขสงบ แล้วเหตุใดจึงมีศพผู้โศกเศร้า ร่างที่พลีให้ดินฝังแต่ยังเยาว์ ประโยชน์เอาเพียงดอกไม้ได้เติบโต’
ในปี 1967 ที่ Bernie Boston นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพนี้ไว้ได้ ไหนเลยจะรู้ว่านอกจากจะถูกใช้ประกอบข่าวในหนังสือพิมพ์ The Washington Star แล้ว มันยังจะสั่นไหวอารมณ์ของผู้คนดังหินก้อนเล็กที่ทำให้วงน้ำกระเพื่อมจนถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลพูลิตเซอร์ ซึ่งถือเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่คนในวงการสิ่งพิมพ์คนใดจะใฝ่ฝันถึง
ย้อนกลับไปนับร้อยปีที่แล้วมีสงครามความรุนแรงเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน สนามรบที่ผู้คนเข่นฆ่ากันด้วยปลายดาบจนถึงกระสุนปืน ศพของผู้เป็นพ่อ เป็นพี่ ของคนผู้เป็นที่รักจากไปอย่างเปล่าเปลี่ยวโดยไม่มีแม้แต่คำอำลา การต่อสู้เพื่อเหตุผลอันชอบธรรมของสองฝ่ายได้กลายมาเป็นคำถามว่าแท้จริงแล้วความรุนแรงสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือ
ช่วงปลายทศวรรษ 1960 จนถึงต้นทศวรรษ 1970 เหล่าหนุ่มสาวเสรีชนผู้ไม่เชื่อในสงครามและความรุนแรงจึงเริ่มต้นออกมาเคลื่อนไหว พวกเขาเหมือนดอกไม้ยามเช้าที่เบ่งบานอย่างเริงร่า มีอุดมการณ์เป็นเหมือนแสงแดดและน้ำค้าง ผลักดันให้ดอกไม้ดอกอื่นๆ
ผลิบานตามกันไป สองมือถือดอกไม้ สองเท้าก้าวเดินภายใต้สโลแกน ‘Flower Power’ พลังของดอกไม้ เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านสงครามเวียดนามและการใช้ความรุนแรง
ผู้คนต่างสวมใส่เสื้อผ้าลายดอก ทัดดอกไม้ไว้ที่หู บ้างก็ผลิตชิ้นงานศิลปะที่มีแรงบันดาลใจมาจากดอกไม้ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อแสดงเจตจำนงของพลังบริสุทธิ์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของกระบอกปืน วันที่ 21 ตุลาคม 1967 เหล่าหนุ่มสาวพากันเดินขบวนไปยังตึกเพนตากอน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา George Edgerly Harris III เด็กหนุ่มวัย 18 ปีผู้เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความเชื่อเสียบคาร์เนชั่นดอกน้อยที่ปากกระบอกปืนของทหารนายหนึ่ง
พวกเขาล้วนรู้ดี,
ดอกไม้กลีบบางไหนเลยจะสกัดกั้นมัจจุราชเหล็กยามแล่นออกจากลำกล้องได้ แต่หากจะมีสิ่งใดที่ทรงพลังพอจะหยุดยั้งความรุนแรงในใจมนุษย์ สิ่งนั้นก็คงจะเป็นพลังบริสุทธิ์ของเหล่าบุปผาชนผู้ใช้ดอกไม้เป็นอาวุธเท่านั้น