ราตรี
Meaning
Queen of the night
ราชินีแห่งรัตติกาล
ราตรีเป็นไม้ดอกกระจิริดที่ยามบานสะพรั่งจะส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปไกล ดอกเล็ก ๆ จะเคลือบคลุมทั้งกิ่งก้านและใบให้เต็มไปด้วยสีขาวพร่างพรู เพราะมีดอกซึ่งมีลักษณะกลีบเป็นห้าแฉก บางคนจึงเปรียบว่าดอกราตรีที่คลี่กลีบแย้มบานในยามค่ำคืนนั้น คล้ายกับดวงดาวที่พร่างพราย ดอกราตรีมีชื่อในภาษา Marathi ซึ่งเป็นภาษาทางราชการของรัฐมหาราษฎร์ในอินเดียว่า ‘Raatraani’ ซึ่งแปลได้ว่า ‘ราชินีแห่งรัตติกาล’ ราตรีมักถูกนำไปโยงกับเรื่องราวลี้ลับหลากหลาย ในนิยายหรือบทประพันธ์บางเรื่องยกให้ราตรีเป็นพันธุ์ไม้ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรักและความผูกพันทางจิตวิญญาณของหนุ่มสาว ในภาษาดอกไม้บางตำราแปลความหมายของดอกราตรีเอาไว้ว่า ‘จดจำฉันตลอดไป’
Night-blooming jasmine and other stories
กลิ่นของดอกราตรีในยามค่ำคืน สามารถเดินทางไปได้ไกลราว ๆ 300 - 500 ฟุต บางทฤษฎีจึงเชื่อว่านี่คือพืชซึ่งมีกลิ่นเข้มข้นรุนแรงที่สุดในโลกชนิดหนึ่งเลยทีเดียว เชื่อกันว่ากลิ่นอันเข้มข้นของดอกราตรีมีอานุภาพในการขับไล่แมลงและยุง สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างหอบหืด กลิ่นของดอกราตรีอาจทำให้เกิดภาวะหายใจลำบากขึ้นเมื่อสูดเข้าไป และผู้ที่มีความอ่อนไหวต่อกลิ่นชนิดนี้ อาจหมดสติได้เมื่อสูดดมกลิ่นของดอกราตรีอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน
History
ดอกราตรี มีต้นกำเนิดบริเวณหมู่เกาะ West Indies ในทะเลแคริบเบียน และพบในพื้นที่เขตร้อนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ ตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ตอนใต้ของประเทศจีน รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยนั้น ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าต้นราตรีเข้ามาเมื่อใด และใครเป็นผู้นำเข้ามา แต่ตามหนังสือ ‘ตำนานไม้ต่างประเทศบางชนิดในเมืองไทย’ ของพระยาวินิจวนันดร ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2483 มีข้อความปรากฏว่า “...ต้นราตรีนี้มีผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเกือบ 60 ปี มาแล้ว...” และหากจะนับย้อนกลับไป 60 ปี ก็จะตรงกับช่วงปี พ.ศ.2423 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่ากันว่า ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นผู้แจกจ่ายพันธุ์ดอกราตรีให้เริ่มมีการปลูกกันในกรุงเทพมหานคร จึงมีข้อสันนิษฐานตามกันมาว่า เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ น่าจะเป็นบุคคลแรกที่นำต้นราตรีเข้ามาในประเทศไทย
Culture
เมืองกาฐมาณฑุใช้ดอกราตรีในการบูชาเทพเจ้าอย่างพระศิวะหรือพระพิฆเนศ ส่วนหมอชาวเนปาลจะทำเครื่องหอมในการประกอบพิธีกรรมโดยใช้ใบและดอกราตรีเป็นส่วนผสม เนื่องจากเชื่อกันว่าควันจากดอกราตรีแห้งสามารถบำบัดและเพิ่มพลังทางจิตวิญญาณ ชาวมายาโบราณจะผสมใบและดอกราตรีลงในน้ำร้อนสำหรับอาบ เพื่อป้องกันเหงื่อออกในยามค่ำคืน ในเม็กซิโกจะใช้สารสกัดจากใบราตรีเพื่อรักษาโรคลมชักและอาการทางจิตบางประเภท ในตำราแพทย์แผนจีนแบบโบราณยังมีการใช้ใบของดอกราตรีรักษาแผลที่เกิดจากไฟไหม้หรือมีอาการบวม ส่วนแพทย์แผนโบราณของฟิลิปปินส์นั้น มักใช้ใบราตรีเป็นยาสมุนไพรแก้อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและโรคลมชัก
Anecdote
แม้ว่าดอกไม้ที่ส่งกลิ่นหอมแรงในยามค่ำคืน มักจะถูกเหมารวมไปเป็นพันธุ์ไม้ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องลึกลับ หลายดอกยังถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ของพันธุ์ไม้ต้องห้ามซึ่งไม่ควรปลูกหรือครอบครอง แต่ราตรีกลับแตกต่างออกไป เพราะมันถูกจัดเอาไว้ให้เป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้มงคล โดยเชื่อกันว่าจะทำให้ผู้ปลูกได้รับความนิยมและแวดล้อมไปด้วยมิตรสหาย หากผู้ปลูกมีลูกสาว เชื่อกันว่าจะทำให้ลูกสาวเป็นคนจิตใจดี พูดจาไพเราะ และงดงามมากขึ้นโดยเฉพาะในยามค่ำคืน นอกจากนั้นยังเชื่อกันว่าจะทำให้มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงอีกด้วย ว่ากันว่าหากสูดกลิ่นหอมของราตรีขณะที่นอนหลับ จะทำให้หลับลึกและฝันเห็นอนาคตได้อย่างแม่นยำ แม้ในปัจจุบันจะมีการศึกษาว่าหลายส่วนของต้นราตรีนั้นมีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพร หากแต่การนำมาใช้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง เพราะในขณะที่ใช้เป็นยาได้ เกือบทุกส่วนของราตรีก็มีสารพิษปะปนอยู่เช่นเดียวกัน หากใช้ผิดวิธีหรือใช้ในปริมาณที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และด้วยความที่สามารถแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว บางพื้นที่ของอเมริกาและนิวซีแลนด์จึงจัดต้นราตรีไว้ในหมวดวัชพืชรุกรานซึ่งต้องทำลายทิ้งอย่างเร่งด่วน
Basic Facts
Reference
https://flowermanman.blogspot.com/2016/03/blog-post.html
https://th.wikipedia.org/wiki/ราตรี_(พรรณไม้)
https://news.trongdee.com/2018/09/blog-post_88.html
https://sangkae.wordpress.com/tag/ดอกราตรี
https://dengarden.com/gardening/Night-Blooming-Jasmine-Cestrum-Nocturnum
http://www.plantsjournal.com/archives/2016/vol4issue6/PartA/4-5-35-321.pdf