Skip to content

Floral Inspiration Edutainment

RakDok (รักดอก)

หน้าวัว


“O My Anthurium! Sweet red Anthurium! Without thee what life would be? Thy heart is sober Thy life is over.” โอ้ ดอกหน้าวัวของฉัน ดอกหน้าวัวสีแดงแสนหวาน ปราศจากเจ้าแล้วชีวิตจะเป็นอย่างไร หัวใจท่านคงเงียบขรึม ชีวิตท่านคงสิ้นสลาย - Alyssah Cuachin

Meaning

In the shape of a heart
หัวใจแห่งไมตรีจิต
    แม้จะได้ชื่อว่าดอกหน้าวัว แทนที่จะดูคล้ายสัตว์ตัวโตตัวนั้นเพียงมองปราดเดียวก็ต้องยอมรับว่าดอกไม้ชนิดนี้ดูคล้ายคลึงกับรูปทรงหัวใจเสียมากกว่า เพราะเหตุฉะนี้ดอกหน้าวัวในภาษาดอกไม้จึงทำหน้าที่ส่งสารแสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีไมตรีจิต ตลอดจนความปรารถนาดีจากผู้ให้สู่ผู้รับ นอกจากนี้ดอกหน้าวัวยังเป็นตัวแทนของความสุขและความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนจึงมักปลูกไว้ในบ้านหรือออฟฟิศเพื่อดึงดูดแต่สิ่งดี ๆ ผู้คนในโลกตะวันตกมอบดอกหน้าวัวสีแดงแทนความหมายของความรัก ความปรารถนา เป็นความรักที่มั่นคง อดทน เหมือนกับตัวดอกไม้ที่ทนทานต่อทุกสภาพแวดล้อม

Championship Flower
นักเลงไม้ประกวด
    ในสมัยก่อนนับตั้งแต่ที่หน้าวัวแพร่หลายเข้ามาในไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เกิดกลุ่มคนที่นิยมเล่นดอกหน้าวัวสายพันธุ์สวยงามกันมากมาย ถึงกับมีการซื้อขายกันหลักหลายพันไปจนถึงหลักหมื่นเพื่อสะสม ผู้ดีมีเงินในสมัยนั้นมักเลี้ยงดอกหน้าวัวเพื่อใช้ประกวด เรียกว่ามีสนามประกวดดอกหน้าวัวโดยเฉพาะเป็นกิจลักษณะ การเลี้ยงก็จำเป็นต้องมีเทคนิคเฉพาะตัวเพื่อให้ได้ดอกไม้ที่ได้มาตรฐานตามพิมพ์นิยมคือ ‘หูสูงพนมชิดติดกัน ปลีโค้งจดปลายจาน ย่นสองข้างต้องลึกเท่ากัน ดอกต้องสูงกว่าใบทุกใบในต้น’ น่าเสียดายที่ในปัจจุบันหลงเหลือนักเล่นหน้าวัวในไทยจำนวนไม่มากแล้ว

History

    หน้าวัว หรือ Anthurium เป็นไม้ดอกที่มีชื่อเรียกหลากหลายมาก อาทิ Flamingo Flower, Boy Flower, Painted Tongue ไปจนถึง Painter's Palette ชื่อของเจ้าตัวมาจากคำภาษากรีกที่มีความหมายว่า ‘ดอกไม้มีหาง’ สันนิษฐานว่าน่าจะเพราะรูปลักษณ์ของหล่อนที่มีแกนงอกขึ้นมาจากกลางดอก เรียกกันว่า ‘ปลี’ ซึ่งเป็นส่วนดอกที่แท้จริง บริเวณรูปหัวใจที่เราเข้าใจกันว่าเป็นดอกที่จริงแล้วเป็นส่วนของจานรองดอก ดอกหน้าวัวมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ป่าดิบชื้นในโคลัมเบีย ก่อนจะเข้าสู่ฮาวายในปี 1889 หลังจากนั้นอีกราวเจ็ดสิบปี ดอกหน้าวัวก็กลายเป็นสินค้าส่งออกที่แพร่หลายไปทั่วยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน ก่อนจะเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5

Culture

    ในโลกตะวันตกผู้คนนิยมมอบดอกไม้ชนิดนี้ในโอกาสแสดงความยินดีต่าง ๆ อาทิ การขึ้นบ้านใหม่ วันสำเร็จการศึกษา ไปจนถึงงานเฉลิมฉลองทั่วไป ด้วยความที่รูปร่างของเจ้าหล่อนคล้ายคลึงกับหัวใจจึงนิยมใช้จัดเป็นช่อดอกไม้เจ้าสาวในวันแต่งงานเช่นกัน ตรงข้ามกับประเทศไทยที่ดอกหน้าวัวกลายเป็นดอกไม้อวมงคลเพราะนิยมใช้ตกแต่งพวงหรีดในงานศพ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันดอกหน้าวัวกลายเป็นหนึ่งในไม้เศรษฐกิจสำคัญของไทยที่ส่งออกตีตลาดต่างประเทศสร้างรายได้ถึงปีละกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท

Anecdote

    ถึงจะหน้าตาดูเป็นมิตรแต่ดอกหน้าวัวเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดเมื่อเคี้ยวหรือกลืนเข้าไป เพราะในดอกไม้มีสารแคลเซียมออกซาเลตที่ทำลายเนื้อเยื่อ ทำให้น้ำลายไหล แสบร้อนในช่องปาก และอาเจียน หากกินเป็นจำนวนมากอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

Basic Facts

Scientific Name: Anthurium
Family: Araceae
Colors: แดง ชมพู ส้ม ขาว
Seasons: ทุกฤดูกาล
Length of time to grow: หน้าวัวเป็นพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายรูปแบบทั้งเพาะเมล็ด ชำแยกหน่อ หรือตัดยอด ดอกไม้ชอบสภาพแวดล้อมที่ความชื้นสูง แสงแดดรำไร อาจใส่ปุ๋ยเดือนละครั้งเพื่อเร่งดอก ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้งเพื่อคุมความชื้นให้คงอยู่ตลอดวัน

Reference