Skip to content

Floral Inspiration Edutainment

RakDok (รักดอก)

เก๊กฮวย


“พระจิบชายามรุ่งสาง ท่ามกลางความเงียบ ดอกเก๊กฮวยแย้มบาน” - Matsuo Bashō

Meaning

The remarkable properties
สรรพคุณของดอกไม้
    ผู้คนนิยมนำดอกเก๊กฮวยมาตากแห้งชงดื่มกับน้ำตาลมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยนอกจากจะมีฤทธิ์เป็นยาเย็นช่วยแก้กระหาย แก้ร้อนใน ช่วยให้ความสดชื่นแก่ร่างกายแล้ว ยังช่วยบำรุงรักษาสายตา กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย ช่วยขับลม แก้อาการไอ ไข้หวัด รักษาอาการผมร่วง บำรุงโลหิต ปอด ตับ ไต ป้องกันโรคหัวใจ ตลอดจนภาวะหัวใจล้มเหลว ชาเก๊กฮวยร้อนยังมีฤทธิ์ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ในโลกการแพทย์สมัยใหม่พบว่าเก๊กฮวยมีสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ซึ่งเป็นสารอนุมูลอิสระที่ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคต่าง ๆ ช่วยลดความดันโลหิต ทั้งยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจึงดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน

Purify your air
เติมอากาศบริสุทธิ์ให้บ้าน
    ในช่วงปลายยุค 1980 NASA (National Aeronautics and Space Administration) ได้ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งว่าด้วยการลดมลภาวะทางอากาศภายในสถานที่ในร่มโดยไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก บิล โวลเวอร์ตัน (Bill Wolverton) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันจึงได้ตีพิมพ์ทฤษฎีวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีใจความสำคัญถึงการปลูกพืชภายในอาคารเพื่อใช้ฟอกอากาศ ในบรรดาพืชเหล่านั้นดอกเก๊กฮวยเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่ช่วยดักจับสารพิษได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติจริงหากต้องการปลูกต้นเก๊กฮวยเพื่อหวังผลตามทฤษฎีดังกล่าว พบว่าอาจจะต้องใช้ต้นไม้ในปริมาณที่มากเกินว่าจะเรียกได้ว่าไม้ประดับเพื่อความสวยงาม

History

    เก๊กฮวยคือชื่อในภาษาจีนฮกเกี้ยนของดอกจวี๋ฮวา ดังนั้นหากจะพูดง่าย ๆ ก็คือ ดอกเก๊กฮวยเป็นดอกเบญจมาศชนิดหนึ่ง แต่คนไทยแยกดอกไม้สองประเภทนี้ออกจากกันด้วยรูปลักษณ์ภายนอก ขณะที่ดอกเบญจมาศมีขนาดใหญ่ กลีบหนาซ้อนกันหลายชั้น เก๊กฮวยคือเบญจมาศที่มีขนาดดอกเล็กกว่า ประกอบไปด้วย เบญจมาศสวน (Chrysanthemum Indicum) และเบญจมาศหนู (Chrysanthemum Morifolium) ซึ่งผู้คนนิยมนำมาต้มดื่มเป็นน้ำสมุนไพรรสชาติหอมหวานสดชื่น ดอกเก๊กฮวยมีถิ่นกำเนิดแถบเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีนที่มีมานานกว่า 3,000 ปี ขณะที่โลกฝั่งยุโรปรู้จักดอกไม้ชนิดนี้ราวกลางศตวรรษที่ 17 ยามที่ชาวตะวันตกต้องการระบุถึงเบญจมาศสายพันธุ์เล็ก หรือดอกเก๊กฮวย บางครั้งอาจเรียกว่า Florist's daisy หรือ Hardy mum ก็ได้เช่นกัน

Culture

    ประเทศญี่ปุ่น และจีนคือสองประเทศที่ดอกไม้ชนิดนี้มีบทบาทโลดแล่นในเชิงวัฒนธรรม วรรณกรรม ไปจนถึงงานศิลปะแต่ละแขนงมากที่สุด ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ใช้คำเรียกรวมดอกเบญจมาศและดอกเก๊กฮวยไว้ด้วยกัน ความสำคัญของดอกเก๊กฮวยที่โดดเด่นแตกต่างจากดอกเบญจมาศจริง ๆ จึงเห็นจะเป็นในแง่คุณสมบัติทางสมุนไพร หรือยารักษาโรค  

    ในประเทศเกาหลีมีเหล้าชนิดหนึ่งเรียกว่า Cheongju หรือ Yakju ที่มีส่วนผสมหลักคือข้าว หมักกับยีสต์ และน้ำเปล่า คล้ายกับสาเกของประเทศญี่ปุ่น บางครั้งผู้หมักจะเติมดอกเก๊กฮวยลงไปด้วย เรียกว่าเหล้า gukhwaju

Anecdote

    การต้มน้ำเก๊กฮวยให้ได้รสชาติหอมหวานไม่ขมจนเกินไปมีเคล็ดลับอยู่ที่การคุมเวลาต้มไม่ให้นานเกินควร รวมถึงใส่ลูกพุดจีน หรือกีจี้ ลงไปต้มรวมด้วยจะช่วยให้ให้ได้สีเหลืองสวย ทั้งยังเพิ่มสรรพคุณด้านดับร้อน ล้างพิษ รวมถึงลดบวมให้กับน้ำเก๊กฮวยมากขึ้นไปอีก

Basic Facts

Scientific Name: Chrysanthemum indicum Linn. และ Chrysanthemum morifolium Ramat.
Family: Asteraceae
Colors: ขาว, เหลือง
Seasons: ฤดูหนาว
Length of time to grow: เก๊กฮวยเป็นไม้ที่ชอบอากาศหนาวจึงสามารถปลูกได้ดีในภาคเหนือ ปกติเกษตรกรจะเริ่มปลูกช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม เพื่อที่ดอกจะได้บานเต็มที่ช่วงเดือนพฤศจิกายน เก๊กฮวยไม่ชอบแดดจัด ต้องการน้ำปริมาณพอเหมาะทุกวันตอนเช้า จำเป็นต้องมีการตัดแต่งเป็นระยะเพื่อให้ได้ปริมาณดอกที่มากขึ้นในวันเก็บเกี่ยว

Reference