Skip to content

Floral Inspiration Edutainment

RakDok (รักดอก)

เบญจมาศ


“เด็ดเบญจมาศพร่างเพียงเขตบูรพา ทัศนาขุนเขาแห่งแดนทักษิณ อากาศพิสุทธิ์ อาทิตย์ลับเหลี่ยมเขางาม สกุณาโผผิน คืนลับกลับรัง” - เถาหยวนหมิง

Meaning

The poem of autumn
บทบรรเลงแห่งสารทฤดู
    ยามเบญจมาศบานนั่นคือสัญญาณของสารทฤดูหรือฤดูใบไม้ร่วงที่เคลื่อนเวียนมาถึง สีสันสดสวยเหลือง แดง ส้ม ชมพู ช่อกลีบซ้อนแน่นพากันอวดโฉมตระการอย่างไม่คิดเก็บงำความงามที่ซุกซ่อนอยู่ ในเอเชียเบญจมาศคือสัญลักษณ์แห่งการกำเนิดใหม่ ในวัฒนธรรมยุโรปเบญจมาศสื่อถึงความเห็นอกเห็นใจ ขณะที่ในอเมริกาเจ้าหล่อนคือตัวแทนของเกียรติยศ และความเคารพ แต่คงจะไม่มีที่ไหนที่ดอกเบญจมาศจะได้เฉิดฉายในฐานะดอกไม้ดอกสำคัญได้เท่ากับในประเทศจีน นับแต่สมัยโบราณที่เบญจมาศมักจะปรากฏในบทกวีอยู่เนือง ๆ ทั้งยังเป็นตัวแทนของสติปัญญา ความสง่างาม และนักปราชญ์ เถาหยวนหมิง กวีชื่อดังสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออกได้เขียนบรรยายถึงความชื่นชมชื่นชอบในไม้ดอกชนิดนี้ผ่านกวีบทหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘ดื่มไวน์’ มีเนื้อหารำพึงถึงชีวิตอันยากแค้นยามเกษียณกลับไปทำนาที่บ้านเก่า ใจความว่าแม้จะไม่มีเงินซื้อไวน์แต่ยังโชคดีที่เขามีดอกเบญจมาศ

The gentleman philosopher
สุภาพบุรุษนักปราชญ์
    ในแวดวงศิลปะของจีนโบราณได้ยกย่องดอกไม้สี่ประเภทแทน ‘สี่สุภาพบุรุษ’ ทั้งยังเป็นตัวแทนของฤดูต่าง ๆ ดอกบ๊วยคือเหมันต์ กล้วยไม้แทนวสันต์ ไผ่เขียวคือคิมหันต์ และเบญจมาศคือสารทฤดู ความงามของเบญจมาศคือความเยือกเย็น กลมกลืน ทว่ายังคงสง่างาม และเด็ดเดี่ยว เซ็ตของดอกไม้ทั้งสี่มักปรากฏพร้อมกันในรูปแบบภาพวาดชุดที่วาดด้วยพู่กันจีน นับเป็นงานจิตรกรรมอันโด่งดังที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง

History

    ตามบันทึกเล่าว่าเบญจมาศมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของยุโรป และเอเชียตะวันออก หลายสายพันธุ์ถูกค้นพบตลอดจนเพาะปลูกในฐานะพืชสมุนไพรในประเทศจีนมานานนับพันปีแล้ว คำว่า Chrysanthemum มาจากภาษากรีกที่แปลได้ว่า ‘ดอกไม้ทองคำ’ บางคราวผู้คนยังเรียกดอกไม้ชนิดนี้ย่อ ๆ ว่า mums หรือ chrysanths เบญจมาศภาษาจีนคือ จวี๋ฮวา เป็นดอกไม้มงคลที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนจีนเป็นอย่างมากทั้งในแง่ใช้เป็นไม้ประดับ ต้นใช้รักษาโรคตับ บำรุงประสาท ใบและดอกมีสรรพคุณรักษาโรคนิ่ว ต่อมน้ำเหลือง ไปจนถึงวัณโรค ก่อนที่ต่อมาเบญจมาศจะแพร่เข้าสู่ญี่ปุ่นในยุคเฮอัน คนญี่ปุ่นเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า คิกุ และเพราะความนิยมของเบญจมาศนั้นแพร่หลายในหมู่ราชวงศ์เป็นอย่างมาก ต่อมาจึงได้กลายเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่น

Culture

    แม้คนต่างชาติจะรู้สึกว่าดอกซากุระมีความผูกพันกับญี่ปุ่นมากกว่า ทว่าจริง ๆ แล้วดอกไม้ที่สถาบันจักพรรดิใช้เป็นตราประจำพระองค์ ใช้เป็นลวดลายบนธง ทั้งยังเป็นดอกไม้ประจำชาติอย่างเป็นทางการคือ ดอกเบญจมาศ 16 กลีบ สื่อต่างชาติยังมักขนานนามยามกล่าวถึงราชวงศ์แห่งประเทศญี่ปุ่นว่าบัลลังก์ดอกเบญจมาศ จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม้ดอกที่มีรูปโฉมสง่างามดอกนี้มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมของญี่ปุ่นแค่ไหน นอกจากนี้ดอกเบญจมาศยังปรากฏในงานศิลปะ งานจัดดอกไม้ บอนไซ ตลอดจนวรรณกรรมชั้นสูงของทั้งญี่ปุ่น และจีนอยู่เนือง ๆ มีผลงานภาพเขียน ฉากพับ พัดด้ามจิ้ว ที่วาดลวดลายดอกไม้โดยจิตรกรดังในอดีตเป็นผลงานล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ศิลป์ถูกเก็บรักษาอยู่มากมาย ด้วยความที่ดอกเบญจมาศให้ความหมายที่สูงค่าเช่นนี้เองจึงมักเป็นดอกไม้ที่ผู้น้อยใช้มอบให้ผู้ใหญ่ หรือมอบให้คนป่วยแทนความหมายอวยพรให้อายุยืนนั่นเอง แตกต่างจากฝั่งยุโรปบางประเทศที่มองว่าเบญจมาศเป็นดอกไม้แห่งความตาย จึงใช้เป็นดอกไม้สำหรับงานศพ

Anecdote

    หากสังเกตหลังเงินเหรียญของจีนดูจะพบว่าด้านหนึ่งของเหรียญสลักค่าของเงินไว้ ขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้นเป็นภาพของดอกไม้ชนิดต่าง ๆ 0.5 หยวนคือดอกบัว 0.1 หยวนคือดอกกล้วยไม้ ขณะที่เหรียญ 1 หยวนที่เรามักเห็นบ่อยที่สุดก็คือดอกไม้ที่เป็นตัวแทนของฤดูใบไม้ร่วงและเดือน 9 อย่างดอกเบญจมาศนั่นเอง

Basic Facts

Scientific Name: Dendranthemum grandifflora
Family: Asteraceae
Colors: ขาว ชมพู แดง เหลือง ส้ม และอื่น ๆ
Seasons: ฤดูใบไม้ร่วง
Length of time to grow: เบญจมาศเป็นไม้ล้มลุกอายุสั้นที่ต้องใช้การควบคุมอากาศ และแสงแดดให้เหมาะสม ไม้ชนิดนี้ชอบอากาศเย็น ชื้น แต่ไม่ชอบดินที่แฉะเพราะทำให้มีโอกาสรากเน่า จึงควรกางหลังคาเพื่อป้องกันแดดและฝน เติมปุ๋ยเร่งดอกอย่างสม่ำเสมอ หากเลี้ยงเพื่อเป็นไม้ประดับนอกจากปลูกลงดิน หรือในกระถางทั่วไปแล้ว สามารถปลูกเลี้ยงแบบบอนไซได้เช่นกัน

Reference