‘Higanbana’ มรณามาลีแห่งแดนอาทิตย์อุทัย
หากพูดถึงความเชื่ออันไม่เป็นมงคลของดอกไม้ – – ‘ฮิกันบานะ’ (Higanbana) ก็อาจอาภัพใกล้เคียงกับดอกซ่อนกลิ่นในบ้านเรา เพราะเป็นดอกไม้ที่ชวนให้นึกถึงความตายเมื่อได้เห็น หากแต่ซ่อนกลิ่นอาจให้ความรู้สึกเยียบเย็น สงบ และสุขุม ในขณะที่ฮิกันบานะนั้นเปรียบเสมือนความตายอันรุนแรงร้อนเร่า และเต็มไปด้วยกลิ่นอายแสนยั่วเย้า
ชื่อสากลของไม้ดอกสวยสะพรึงสีแดงสดดอกนี้ รู้จักกันในนาม มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบประเทศจีนและเกาหลี ก่อนข้ามพรมแดนไปเบ่งบานต่อในประเทศญี่ปุ่น ดอกไม้ชนิดนี้มักจะบานใน Red Spider Lily ช่วง ‘วสันตวิษุวัต’ อันเป็นวันที่มีเวลากลางคืนและกลางวันยาวนานเท่ากันในประมาณช่วงปลายเดือนกันยายน ชาวญี่ปุ่นเรียกช่วงนี้ว่า ‘Higan’ โดยหลังจากช่วงนี้จะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง อันเป็นฤดูกาลที่กลางคืนจะเริ่มกลืนกินความสว่างของเวลากลางวัน จึงมีนัยสื่อถึงความมืดมิดในโลกแห่งความตาย ในช่วงนี้ประเทศญี่ปุ่นจะมีเทศกาล O-Higan ซึ่งผู้คนในแดนปลาดิบจะกลับไปทำความเคารพหลุมศพของบรรพบุรุษ คล้ายกับช่วงเช็งเม้งในประเทศไทย และด้วยความที่ฮิกันบานะนั้นเป็นดอกไม้ซึ่งมักใช้ปลูกในบริเวณสุสานหรือหลุมฝังศพมาตั้งแต่ยุคโบราณ เพื่อป้องกันไม่ให้บรรดาสัตว์ทั้งหลายมาคุ้ยเขี่ยทำลายศพที่ฝังเอาไว้ เนื่องจากเกือบทุกส่วนของมันเต็มไปด้วยพิษที่อันตรายทั้งต่อคนและสัตว์ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ฮิกันบานะกลายเป็นดอกไม้ซึ่งอยู่คู่กับสุสานไปโดยปริยาย ในอดีต บางคนยังเชื่อว่าเหตุที่ดอกฮิกันบานะมีสีแดงสด เกิดจากการดูดเลือดของศพที่ฝังอยู่ใต้พื้นดินขึ้นมา และนั่นทำให้เรื่องราวของฮิกันบานะยิ่งฟังดูน่าสยดสยองขึ้นไปอีก…
ไม่เพียงแค่ตำนานแสนจะลึกลับเท่านั้น ที่ทำให้ไม้ดอกชนิดนี้กลายเป็นดอกไม้ที่ชาวญี่ปุ่นไม่นิยมนำไปใช้ในโอกาสอื่น นอกจากใช้ประดับในงานศพ ผู้คนยังเชื่อกันด้วยว่าฮิกันบานะเป็นดอกไม้แห่งการจากลา เพราะเมื่อฮิกันบานะผลิบานแต่ละครั้ง มันต้องทิ้งใบให้หมดจากต้นเสียก่อน ใบและดอกของฮิกันบานะจึงไม่มีโอกาสได้รวมอยู่บนต้นเดียวกัน ทำให้มันกลายเป็นดอกไม้แห่งการพลัดพราก นอกจากนั้น ฮิกันบานะยังเป็นพืชซึ่งเป็นพิษต่อคนและสัตว์ทั่วไป โดยทำให้อาเจียน ท้องเสียอย่างหนัก เป็นอัมพาต และถึงขั้นเสียชีวิตได้หากเผลอกินเข้าไปในจำนวนมาก ในสมัยโบราณของญี่ปุ่น เคยมีผู้คนนำฮิกันบานะมากินเป็นอาหารเนื่องจากภาวะอดอยาก ทำให้มีผู้คนล้มตายเพราะดอกไม้ชนิดนี้เป็นจำนวนมาก – – นี่จึงเป็นดอกไม้ที่มาพร้อมกับความตายทั้งในโลกแห่งจินตนาการและความจริง
นอกจากเรื่องชวนสยองแล้ว ฮิกันบานะยังมีตำนานที่มาพร้อมกับเรื่องโรแมนซ์แสนเศร้า มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ตามความเชื่อแบบญี่ปุ่นนั้น ดอกไม้แต่ละชนิดจะมีเทวาอารักษ์ประจำอยู่เพียงหนึ่งองค์ ไม่เทวดาประจำดอกก็เทวดาประจำใบ แต่ความงามของฮิกันบานะนั้นทำให้ทั้งเทวดาประจำดอกและประจำใบร้องขอต่อเทพี ‘อามะเทราสึ’ ซึ่งเป็นเทพีแห่งดวงอาทิตย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแดนสวรรค์ ให้ได้ดูแลฮิกันบานะร่วมกันทั้งคู่ เนื่องจากทั้งสองต่างตกหลุมรักซึ่งกันและกัน อันเป็นเรื่องผิดกฎสวรรค์ตามความเชื่อแบบญี่ปุ่น องค์เทวีจึงลงโทษโดยสาปให้ทั้งคู่แยกจากกันชั่วนิรันดร์ ไม่ให้มีวันได้เจอกันอีก เชื่อกันว่าเทวดาองค์หนึ่งได้มาจุติเป็นฮิกันบานะ ในขณะที่อีกองค์นั้นไปเกิดเป็นดอก ‘มันจูซาเกะ’ (Manjushage) ซึ่งมีรูปลักษณ์เหมือนกันเพียงแต่เป็นสีขาวสะอ้าน โดยมักพบได้ในบริเวณศาลเจ้าหรือวัดเป็นส่วนใหญ่ และนั่นทำให้ดอกไม้ทั้งสองคล้ายกับอยู่ในโลกคนละใบ ฝั่งหนึ่งนั้นอยู่ร่วมกับความตาย ในขณะที่อีกดอกกลับได้อยู่ในพื้นที่ของเทพเจ้าอันสูงส่ง
Sudsaijaiอ้างอิง:
https://www.redlovetree.com/higanbana-redspiderlily-kinchakuda-saitama-manjushage/
https://pkgjourney.com/higanbana/
https://en.wikipedia.org/wiki/Lycoris_radiata
https://www.japanvisitor.com/japanese-culture/seasons/higanbana
https://tokyo.digi-joho.com/attractions/parks-gardens/100-higanbana-manjushage.html