เมื่อความรักในบางครั้งไม่ได้จบลงเพียงแค่การบอกให้อีกคนได้รับรู้เพียงอย่างเดียว วัตถุสิ่งของนานาชนิดจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นตัวเลือกเสริมเพิ่มเติมพลังให้กับประโยคของการบอกรัก ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า รองเท้า นาฬิกา ตุ๊กตา หรือสิ่งอื่นใดอีกมากมายสุดแท้แต่ผู้มอบ แต่หนึ่งในความหลากหลายมากมายทางตัวเลือกดอกไม้ก็จัดว่าเป็นอันดับต้นเสมอมาในการเป็นสื่อเสริมพลังของการบอกรัก
บทความในวันนี้จึงอยากชวนมาสร้างช่องทางการเสพความรักจากดอกไม้ให้เพิ่มขึ้นจากแบบเดิม ที่เก็บดอกไม้ไว้ชื่นชมเพื่อการมองเพียงอย่างเดียวให้กลายเป็นได้ทั้งมองได้ทั้งดอมดม (เหมือนการแปรรูปสินค้า OTOP)
โดยสิ่งที่จะนำมาเสนอวันนี้คือการทำ “บุหงาสด-บุหงาแห้ง” บางคนรู้จักบางคนไม่รู้จัก สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักนึกง่ายๆมันคือสิ่งที่เราเคยเห็นตามงานแต่งงานที่เจ้าภาพมักมอบให้เป็นของชำร่วย หรือไม่ก็หันไปถามผู้อาวุโสข้างๆดูคุณน่าจะพบคำตอบ
การเลือกบุหงาสด และบุหงาแห้งให้มาเป็นตัวเพิ่มช่องทางของการเสพความรักนั้นก็เพราะว่า บุหงาทั้งสองแบบเป็นสิ่งที่เราสามารถนำเอาดอกไม้จากคนที่รักเรามอบให้เรามาสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นกลิ่นหอมให้กับเราเพื่อเก็บความรู้สึกกับความทรงจำแห่งความสุขให้ยืดยาวยิ่งขึ้นด้วยกระบวนการสร้างที่ไม่ซับซ้อนอะไร
บุหงาสด : อุปกรณ์
นำดอกไม้ที่เรารับมาจากเทศกาลแห่งความรัก เช่น กุหลาบ ดอกมะลิ มาใช้เป็นองค์ประกอบหลักหรือจัดหนักไปเลยก็จะมี พิกุล กระดังงา ไฮยาซินท์ ลำเจียกเพิ่มเติมตามสูตรคลาสสิกที่ใช้เพื่อการเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต เลือกตามการใช้งานของเราซึ่งวันนี้จะขอใช้เป็นดอกกุหลาบกับดอกมะลิที่เรามักได้รับตามเทศกาลต่าง ๆ แทรกด้วยเตยหอมจากความชอบส่วนตัว
จัดเตรียมหัวน้ำหอมกลิ่นต่างๆ อาทิเช่น กลิ่นกุหลาบ มะลิ ไฮยาซินท์ กระดังงา และลำเจียก หรือขึ้นอยู่กับการหาได้ของเรา อาจจะใช้เพียงความชอบของเราเป็นตัวตั้งในการเลือกกลิ่นก็ย่อมได้ แต่หากใช้ทั้ง 5 กลิ่นผสมกันก็จะออกมาเป็นสูตรที่ใช้เพื่อเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต
การทำ : บุหงาสด
เริ่มจากนำกลีบดอกไม้ชนิดต่างๆที่เรามีนำมาคลุกรวมกัน จากนั้นนำหัวน้ำหอมกลิ่นที่ต้องการพรมลงไปยังมวลของกลีบดอกไม้ที่เราได้เตรียมไว้ตั้งแต่ต้น คลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างนุ่มนวลเมื่อเสร็จแล้วนำมาบรรจุใส่ถุงผ้าโปร่ง หรือบรรจุใส่อะไรก็ตามที่เราพึงพอใจแต่ไม่แนะนำให้เก็บใส่ตู้เสื้อผ้าเพราะอาจทำให้เกิดเชื้อราขึ้นได้จากเดิมจะให้เป็นความหอม ตัวแทนของความรักกลับกลายเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์
บุหงาแห้ง : อุปกรณ์
เตรียมกลีบดอกไม้สด เช่น กุหลาบ ดอกมะลิ เหมือนกับการทำบุหงาสด หรือจะใช้ดอกไม้เพิ่มเติมแบบจัดเต็มโดยมี พิกุล ชมนาด กระดังงา และบานไม่รู้โรยเป็นตัวเสริมทัพก็ไม่ติด
เทียนอบร่ำเพื่อการสร้างกลิ่น ตะคันดินเผา เข้าใจง่ายๆคือถ้วยดินเผาเล็กต่อมาเป็นหม้อเคลือบหรือโถแก้วที่มีฝาปิด
การทำ : บุหงาแห้ง
นำกลีบดอกไม้สดที่เราต้องการไปตากให้แห้งโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 1 สัปดาห์ ข้อแนะนำสำหรับดอกกุหลาบควรตากแดดในที่ร่มเพื่อสีสันที่สวยงาม ส่วนดอกมะลิควรตากแดดจนหมดความชื้น
เมื่อได้กลีบดอกไม้ที่นำไปตากจนแห้งแล้วต่อมาก็นำไปใส่ยังหม้อเคลือบหรือโถแก้ว จุดเทียนอบให้ไส้เทียนแดงจัด จากนั้นดับเทียน เมื่อเทียนดับแล้วควันจะลอยฟุ้งขึ้นมา วางเทียนบนตะคันแล้วนำใส่ลงไปในหม้อของบุหงาแห้งปิดฝาจนสนิท ปล่อยร่ำไว้จนหมดควัน (ร่ำควันเข้าใจง่ายๆคือการอบกลิ่น) โดยประมาณ 10-15 นาทีก็จะหมดควัน
เมื่อหมดควันแล้วในรอบแรกให้เราร่ำแบบเดิมโดยการนำเทียนออกมาจุดใหม่ทำวนไปมาทั้งหมด 5-7 ครั้งจนรู้สึกได้ว่าบุหงาแห้งของเราซับกลิ่นจากการร่ำเข้าไปแล้ว
จากนั้นฉีดหัวน้ำหอมเพื่อการผสมเพิ่มเติมกลิ่นให้กับบุหงาแห้งคลุกเคล้าให้เข้ากัน พักไว้เพื่อรอการใช้งาน เมื่อสบโอกาสก็นำไปบรรจุใส่ภาชนะต่างๆที่เราต้องการ จะเป็นถุงผ้าขาวโปร่งหรือตามแต่ดีไซน์การใช้งานเป็นอันจบ
อย่าได้ห่วงเรื่องของสูตรการทำมากจนลืมสิ่งสำคัญแท้จริงของความตั้งใจแรกเริ่ม ที่ต้องการนำดอกไม้จากคนที่รักเรามาต่อยอดให้เราได้สัมผัสมันมากขึ้นนานขึ้น เพราะไม่ว่าจะบุหงาแห้งหรือบุหงาสด สิ่งที่นำมาใช้นั้นมีคุณค่ามากที่สุดเพียงแค่เพิ่มเติมการกระจายความสุขให้มากขึ้นจากหนึ่งเป็นสองช่องทางเท่านั้น
Chitipat L.