Photo Credit : https://en.wikipedia.org/wiki/File:Chintz_fragment_with_tulips_and_insects.JPG
หญิงสาวกับดอกไม้เป็นของคู่กัน
แม้คำกล่าวนี้อาจดูล้าสมัยไปสักนิดในยุคที่ความชอบของผู้คนไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่เพียงเรื่องเพศหรือวัย
แต่หากมองย้อนกลับไปก็คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหมู่มวลบุปผาที่บานสะพรั่งนั้นมีอิทธิพลต่อหญิงสาวในยุคต่างๆ มากแค่ไหน โดยเฉพาะในวงการแฟชั่นที่ดอกไม้สามารถเบ่งบานได้แม้ไม่ใช่ในฤดูใบไม้ผลิ
ว่ากันว่าลวดลายดอกไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอดีตคือลายปักดิ้นดอกพีโอนีบนชุดกี่เพ้า ซึ่งเกิดขึ้นมายาวนานเกือบพันปี พร้อม ๆ กับการปักลวดลายบนชุดประจำชาติอื่นๆ ในแถบเดียวกัน เช่น กิโมโนของญี่ปุ่น และชุดฮันบกของเกาหลี ซึ่งเป็นสมัยที่ผู้คนยังใช้วิธีการปักมืออย่างพิถีพิถันลงบนผ้าไหม เพื่อให้เกิดลวดลายต่างๆ ตามใจชอบ งานปักมือเหล่านี้ทรงอิทธิพลเป็นอย่างมาก และมันยังถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปเป็นสินค้าให้กับคนรวยทางฝั่งยุโรป
หลายศตวรรษให้หลังเราจึงเริ่มเห็นดอกไม้เข้ามามีอิทธิพลกับวงการแฟชั่นมากขึ้น อย่างในศตวรรษที่ 15 ผ้าลูกไม้สีขาวก็กลายเป็นไอเท็มยอดฮิต เพื่อสร้างความรู้สึกเบาสบายให้กับเสื้อผ้าหนา ๆ ของคนยุโรป หรือในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 ลายปักไหมรูปดอกเดซี่ คาร์เนชั่นและดอกกุหลาบที่ก้านพันเกี่ยวแข่งกันเบ่งบานอวดสีสันสดใสก็มีให้เห็นทั่วไปบนชุดคอร์เซ็ต เช่นเดียวกับผ้าคอตตอนพิมพ์ลายตระกูล Chintz จากอินเดียที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศอังกฤษ
แม้ในขณะนั้นลายผ้าดอกเล็ก ๆ หรือลาย Spring จะเป็นที่นิยมในหมู่หญิงสาวชนชั้นแรงงานเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายสิบปี จนล่วงเลยเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ลายผ้าดอกทั้งเล็กและใหญ่ก็กลายเป็นแฟชั่นสุดคลาสสิกที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่หญิงสาวทั่วโลก จนพวกมันได้ไปแข่งกันเบ่งบานอยู่บนชุดทุกรูปแบบตั้งแต่ชุดเดรส กระโปรง เสื้อ ชุดนอน ชุดว่ายน้ำ ไปจนถึงลายบนผ้าพันคอและหมวกเลยก็มี
ก่อนที่เครื่องพิมพ์ดิจิทัลจะเข้ามามีอิทธิพลกับอุตสาหกรรมแฟชั่น เหล่านักออกแบบทั้งหลายจะต้องวาดลวดลายดอกไม้เหล่านั้นด้วยมือทั้งหมด แล้วจึงระบายสีลงบนกระดาษเพื่อนำภาพเหล่านั้นไปพิมพ์ลงบนเนื้อผ้าอีกครั้ง ถือเป็นงานที่ต้องใช้ความตั้งใจเป็นอย่างมาก เพื่อให้ภาพดอกไม้แต่ละภาพมีขนาดพอดีกันบนตารางผ้าผืนใหญ่
โดยลายดอกที่มักจะได้รับความนิยมและยังคงเป็นลายผ้าคลาสสิกที่เรามักพบเห็นบ่อยๆ ในปัจจุบัน ก็คือลายดอกและลายใบไม้เล็กจิ๋ว อย่างดอกเดซี่ หรือดอกฟอร์เก็ตมีนอต ที่กระจัดกระจายกันอยู่เต็มพื้นที่ แต่งแต้มสีสันด้วยราชินีแห่งดอกไม้อย่างดอกกุหลาบและดอกคามิเลีย ซึ่งลายผ้าเหล่านี้มักสื่อถึงสวนดอกไม้อันเบ่งบาน ประจำคอลเลคชั่นฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนของแบรนด์แฟชั่นทั้งหลาย
อีกหนึ่งแฟชั่นยอดนิยมในช่วงยุค 60s ถึง 80s ก็คือ ลายดอกไม้สีสันประหลาดตาที่เรามักไม่ได้เห็นกันในชีวิตจริง แม้ดอกไม้เหล่านั้นจะอิงมาจากรูปร่างของดอกไม้จริง ๆ ที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่เหล่าดีไซน์เนอร์ก็มักจับพวกมันมาดัดแปลงให้มีสีสันแปลกตา และถูกนำไปพิมพ์ซ้ำด้วยสีที่แตกต่างกันไป เช่น ดอกกุหลาบสีฟ้า ดอกไม้สีเขียวที่มีใบสีดำ หรือดอกไม้สีชมพูที่มีใบสีม่วงเป็นต้น
ในบางครั้งนักออกแบบยังหยิบเอาลายดอกไม้แบบพื้นเมืองมาดัดแปลงให้กลายเป็นแพทเทิร์นที่ดูทันสมัยขึ้น อย่างในโปแลนด์ก็มีการนำชุดประจำเผ่าของกลุ่ม Krakowiak และ Highlanders ที่อาศัยอยู่ในเมือง Podhale มาใช้ ซึ่งมักจะเป็นดอกกุหลาบดอกใหญ่สีสันสดใส ที่แบ่งบานกันจนเต็มพื้นที่เสื้อ แต่ในบางทีนักออกแบบก็อาจหยิบเอาลวดลายเลขาคณิตแบบง่ายๆ เช่น รูปทรงวงกลม และสามเหลี่ยมมาแต่งแต้มสีสันให้เป็นรูปทรงของดอกไม้ที่เหมือนงานวาดของเด็ก ๆ ได้เช่นกัน
จนถึงทุกวันนี้ดอกไม้เหล่านี้ก็ยังเป็นลายผ้าคลาสสิคที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่บนเสื้อผ้าของหญิงสาวเพียงเท่านั้น แต่มันยังกลายเป็นแพทเทิร์นแสนสามัญที่อยู่บนเสื้อผ้าของคนทุกเพศทุกวัน และพบได้ในแทบทุกแบรนด์เสื้อผ้า ซึ่งพวกมันมักจะวนกลับมาให้เห็นบ่อยๆ เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนและฤดูใบไม้ผลิ เพื่อเพิ่มความสดใสให้กับทั้งผู้ใส่และผู้พบเห็น
ลองเปิดตู้เสื้อผ้าของคุณดูสิ บางทีอาจจะมีดอกไม้เบ่งบานอยู่ก็ได้นะ
Ames