จากต้นไม้แห่ง ‘องค์กฤษณะ’ สู่ทรงผมโบราณของไทย
‘ทรงดอกกระทุ่ม’ เป็นชื่อเรียกแฟชั่นทรงผมของสตรีสมัยกลางยุครัตนโกสินทร์ ทรงดอกกระทุ่ม มีลักษณะเป็นผมสั้นหวีเสยที่ด้านหน้าโป่งพองเล็กน้อย แต่ใครกันจะรู้จักต้นกระทุ่มเป็นอย่างดี และรู้ว่านี่คือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เปรียบดังตัวแทนแห่งองค์กฤษณะด้วย
‘กระทุ่ม’ เป็นต้นไม้โบราณที่ยืนต้นต้านทานกาลเวลามาจนถึงยุคปัจจุบัน แม้ว่าทุกวันนี้กระทุ่มจะเป็นคล้ายไม้ในจินตนาการที่หาดูได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง เพราะแต่ไหนแต่ไร ต้นกระทุ่มนั้นเป็นไม้ใหญ่ซึ่งมักพบได้ตามบ้านไร่ปลายนา ทำหน้าที่คอยแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาแก่เกษตรกรชาวไร่ แม้จะเคยนำกระทุ่มมาใช้ปลูกตกแต่งอาคารบ้านเรือนกันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก เนื่องจากเป็นไม้ใหญ่ที่มีข้อจำกัดในการปลูก คนสมัยใหม่จึงอาจรู้จักดอกกระทุ่มเพียงแค่คำเรียกทรงผมสมัยโบราณซึ่งเห็นกันในละครพีเรียดช่วงค่ำ
ในสยามประเทศ ผมทรงดอกกระทุ่มถือกำเนิดขึ้นในช่วงกลางถึงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านั้นในช่วงต้นรัชกาล หญิงชาววังนิยมไว้ผมยาวประบ่า หวีเสยหรือแสกกลางแล้วจับด้วยน้ำมันตานีให้อยู่ทรง หากไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด แฟชั่นทรงผมกับสตรีก็เป็นสิ่งที่ไม่จีรัง หลังจากความนิยมผมยาวประบ่าเริ่มจางไป สตรีในยุคนั้นก็หันมาตัดผมสั้นเกรียนทั้งศีรษะ เว้นด้านหน้าเอาไว้ให้ตั้งชี้จนมีลักษณะดุจเดียวกับดอกกระทุ่ม หรือปล่อยให้ผมด้านหน้ายาวขึ้นอีกนิดแล้วหวีเสยขึ้นไป ใช้น้ำมันตานีจับให้ผมตั้งสูงได้รูป ซึ่งก็อนุโลมให้เรียกผมในลักษณะนี้ว่า ‘ทรงดอกกระทุ่ม’ เช่นกัน นอกจากจะนับเป็นแฟชั่นซึ่งถือกันว่างามตาในสมัยนั้นแล้ว การที่สตรีไทยทั้งในและนอกราชสำนักนิยมตัดผมทรงดอกกระทุ่มนั้น อาจเพราะความเชื่อว่าเป็นมงคล เพราะคตินิยมที่ว่าต้นและดอกกระทุ่มเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และของมงคล เป็นความเชื่อของชาวอินเดียซึ่งแพร่สู่สยามในยุคนั้น
ข้ามฟากมายังอินเดีย ต้นตำรับความเชื่อในเรื่องความเป็นสิริมงคลของต้นกระทุ่มมาจากตำนานชาวอินเดียโบราณ ที่เชื่อว่ากระทุ่มคือต้นไม้อมตะ เพราะในคราวกวนเกษียรสมุทรบนสรวงสวรรค์ พญาครุฑซึ่งได้ดื่มน้ำอมฤตนั้นบินมาเกาะที่กิ่งของต้นกระทุ่ม น้ำอมฤตที่ติดอยู่ตรงจงอยปากจึงหยดลงมาบนต้นไม้ ส่งผลให้ต้นกระทุ่มจับพลัดจับผลูกลายเป็นต้นไม้อมตะไปด้วย เรื่องเล่าในฝั่งอินเดียยังกล่าวโยงต่อมาว่า ในอินเดียนั้นมีทะเลสาบขนาดใหญ่ชื่อว่า ‘กาลิยทหะ’ ซึ่งเป็นที่อยู่ของพญานาคนามว่า ‘กาลิยะนาคา’ ตรงกลางของทะเลสาบมีเกาะเล็กๆ ซึ่งมีเพียงต้นกระทุ่มตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว ทั้งที่รอบด้านไร้ซึ่งสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เพราะลมหายใจของกาลิยะนาคามีฤทธิ์ทำลายล้างสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ที่ไปโดน เว้นแต่ต้นกระทุ่มซึ่งเป็นต้นไม้อมตะเท่านั้นที่ยังคงเติบโตอยู่ได้ และต่อมา องค์พระกฤษณะในวัยเด็กทรงกระโดดลงไปเล่นน้ำในทะเลสาบนี้ แล้วโดนกาลิยะนาคารัดเอาไว้ หากองค์กฤษณะผู้ฤทธามากกว่าก็ปราบพญานาคลงได้ และไล่พญานาคไปอยู่เสียที่อื่น
เรื่องราวระหว่างต้นกระทุ่มกับองค์กฤษณะยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ว่ากันว่านอกจากเปลือกของต้นกระทุ่มจะเป็นสีดำเหมือนสีวรกายของพระองค์แล้ว พระกฤษณะยังเคยนำบรรดาชายามานั่งชิงช้าพักผ่อนหย่อนใจกันใต้ร่มเงาของต้นกระทุ่มด้วย ทำให้ต้นไม้ชนิดนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำองค์พระกฤษณะ ผู้ที่เคารพบูชาพระกฤษณะในอินเดียจึงมักนิยมใช้ดอกกระทุ่มบูชาถวายเมื่อถึงช่วงเทศกาลต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเทศกาล Jhulan Yatra ในช่วงราวเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมของทุกปี ซึ่งเป็นเทศกาลที่รำลึกถึงความรักขององค์พระกฤษณะและชายา เมื่อคราวมาโล้ชิงช้าอยู่ใต้ต้นกระทุ่ม
ต้นกระทุ่มนับเป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้เก่าแก่ที่มีเรื่องราวโยงใยกับวิถีชีวิตของชาวไทยและอินเดียมาเนิ่นนาน นอกจากเรื่องราวตามตำนานทั้งหลายแล้ว เมื่อมองในความเป็นจริง ดอกกระทุ่มยังมีลักษณะแปลกตาน่าเอ็นดู ด้วยสัณฐานกลมมีสีเหลืองอ่อนอยู่ด้านใน ด้านนอกปกคลุมด้วยเกสรสีขาวเส้นเล็กๆ แถมยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ชื่นใจ ต้นกระทุ่มบางสายพันธุ์ยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรรักษาอาการป่วยไข้ได้หลายหลาก แถมไม้กระทุ่มยังมีเนื้อละเอียดเหมาะแก่การนำไปทำอุปกรณ์ใช้สอยทั้งหลาย กระทุ่มจึงถือเป็นพันธุ์ไม้ที่เปี่ยมล้นไปด้วยเรื่องเล่า ทั้งทรงคุณค่า และน่าเสียดายหากจะถูกปล่อยให้ค่อยๆ สูญหายตายไปกับกาลเวลา จนกลายเป็นไม้ที่หาได้เพียงแค่จากเรื่องเล่าในตำนานเท่านั้น
อ้างอิง
https://www.doctor.or.th
https://www.learnreligions.com
https://medthai.com