ดอกไม้ การจากลา และอาลัยรัก
“มะลิวัลย์พันระกำขึ้นแกมจาก
ได้สามวันกรรมพรากไปจากห้อง
จำปีเคียงโศกระย้า ผกากรอง
พี่โศกเศร้าเฝ้าตรองกว่าสองปี…”
ขุนช้างขุนแผน, สุนทรภู่
ดอกไม้ สวยงามและสื่อความหมายเรียบง่ายกว่าการแสดงออกทางวาจาในบางครา อาจเป็นเพราะอย่างนี้เอง เราจึงนึกถึงดอกไม้ควบคู่กับความรัก คำรักพูดง่ายกว่าเมื่อใช้ภาษาดอกไม้แทนคำพรรณนาแสนหวาน ความรู้สึกนั้นอ่อนละเอียดจนบางทีการใช้คำพูดบรรยายออกมาทั้งหมดดูจะงุ่มง่ามเทอะทะเกินไป ดอกไม้สดสวยเหมาะกับการใช้ในงานมงคลหรือพิธีการ ต่างมีความหมายในตัวเอง ดอกมะเขือใช้ไหว้ครู มะลิร้อยเรียงมอบแด่ผู้ให้กำเนิดในวันแม่ ช่อดอกไม้แสดงความยินดีในวันรับปริญญา ในวันเกิด ฉลองให้กับชีวิตใหม่ที่เหมือนดอกไม้แรกแย้ม หรือแม้กระทั่งดอกไม้แสดงความอาลัย ความสวยปนโศก สอดแทรกข้อความสุดท้ายให้ผู้ที่ล่วงลับก่อนลาจาก…
นอกจากความหมายที่ต่างกันไปตามดอกไม้แต่ละชนิดแล้ว แม้จะเป็นดอกไม้ชนิดเดียวกัน แต่พออยู่ในบริบทของแต่ละประเทศแล้ว ความหมายที่สื่อออกมาก็ยังแตกต่างกันออกไปอีกด้วย ดังนั้น การเลือกดอกไม้ให้ถูกความหมายและกาลเทศะจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเราต้องให้ดอกไม้กับผู้ใหญ่ หรือในกรณีที่เราต้องเลือกดอกไม้สำหรับใช้ในการไว้อาลัย เพราะถ้าไม่ระวังให้ดีละก็ จากที่จะสร้างความประทับใจให้กับฝ่ายตรงข้าม อาจจะเกิดเหตุการณ์ Lost in translation หรือสื่อสารไม่ตรงกันอันแสนกระอักกระอ่วน
ดอกไม้กับการจากลา เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
การใช้ดอกไม้เพื่อไว้อาลัยให้กับผู้ที่จากไปในงานศพนั้นเป็นประเพณีที่มีอยู่ทั่วโลก โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุผลที่แสนจะตรงไปตรงมา คือเป็นกลในการดับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีและการเก็บรักษาให้คงสภาพพัฒนาขึ้น ทำให้การใช้ดอกไม้เพื่อกลบกลิ่นนั้นไม่จำเป็นอีกต่อไป การนำดอกไม้ไปวางไว้บริเวณรอบๆ และด้านบนของโลงศพ เลยกลายเป็นเพียงประเพณีที่ทำเพื่อให้เกียรติและไว้อาลัยแก่ผู้ล่วงลับเท่านั้น นอกจากนี้ อีกหนึ่งเหตุผลที่นิยมใช้ดอกไม้เป็นการสื่อความหมาย ก็เป็นเพราะว่าดอกไม้แต่ละชนิด มีความหมายละเอียดอ่อน สามารถใช้สื่อความรู้สึกออกมาได้ดีกว่าคำพูด
เมื่อสังเกตดูแล้ว ดอกไม้ที่นิยมใช้ในหลายๆ ประเทศ มักจะเป็นดอกไม้สีขาว โดยเฉพาะดอกเบญจมาศ (Chyrsanthemum) ซึ่งมักนำมาใช้เป็นดอกไม้สำหรับงานศพทั้งในประเทศฝั่งยุโรปและเอเชีย ในประเทศไทยเอง ดอกไม้ที่นิยมใช้มักจะเป็นดอกลิลลี่และดอกคาร์เนชั่นสีขาว ส่วนใหญ่จะจัดมาในลักษณะพวงหรีดทรงกลม พร้อมป้ายพิมพ์ชื่อของผู้ส่งคาดอยู่ตรงกลาง ส่วนในประเทศจีน ซึ่งให้ความสำคัญกับนัยยะของสีเวลาเลือกดอกไม้สำหรับแต่ละโอกาส ก็นิยมใช้ดอกเบญจมาศจัดงานไว้อาลัยเช่นกัน โดยใช้ดอกเบญจมาศทั้งสีขาวและเหลือง นอกจากนี้ยังมีดอกลิลลี่และกุหลาบที่สามารถนำมาใช้ได้ โดยมีข้อกำหนดสำคัญคือ ต้องเป็นดอกไม้สีขาว
ในประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ก็มักใช้ดอกเบญจมาศสีขาวแสดงความอาลัยแก่ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับ ที่น่าสนใจคือ ประเพณีการมอบพวงหรีดของประเทศเกาหลีใต้นั้นมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย เนื่องจากผู้ใหญ่คนสำคัญ บริษัท หรือองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ตาย จะเป็นคนส่งพวงหรีดไปให้เพื่อแสดงความเสียใจ โดยพวงหรีดที่ส่งไปจะมีชื่อเรียกว่า คึนโจฮวาฮวัน (근조화환) เป็นแท่นแนวตั้งที่มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมทรงสูง ประกอบด้วยดอกเบญจมาศสีขาว พร้อมด้วยริบบิ้นพิมพ์ข้อความแสดงความเสียใจขนาดยาวสองเส้น เส้นหนึ่งพิมพ์ข้อความไว้อาลัย อีกเส้นระบุชื่อของผู้ส่ง ส่วนมากมักจะนำไปตั้งไว้ตรงโถงหน้าห้องพิธีการ (Funeral Parlour) สำหรับแขกเหรื่อทั่วไป การให้ดอกไม้ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องทำในการร่วมงานพิธีศพของเกาหลี แต่หากต้องการนำดอกไม้ไปแสดงความเสียใจ ควรนำดอกเบญจมาศสีขาวไปวางไว้ที่แท่นด้านหน้าโลงศพ โดยวางดอกไม้ให้หันหน้าเข้ารูปของผู้เสียชีวิต
ในญี่ปุ่น ดอกไม้ที่นำมาใช้สำหรับจัดงานศพจึงหนีไม่พ้นดอกเบญจมาศสีขาวและเหลือง ซึ่งในอดีตเป็นดอกไม้ประเภทเดียวที่นำมาใช้ในพิธีศพ แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการนำดอกไม้สีขาวชนิดอื่นๆ อย่างเช่นดอกคามิเลีย รวมถึงดอกไม้ที่มีสีสันมากขึ้นมาใช้ ทั้งนี้ ความสำคัญของดอกไม้ในพิธีศพในญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่แท่นวางโลงศพที่ทำจากดอกไม้สด เรียกว่า Seikasaidan (生花祭壇) โดยมักจะจัดเป็นลายมงคล เช่น ลายคลื่น และ ลายภูเขา สำหรับแขกที่มาร่วมงาน หากต้องการมีดอกไม้ติดมือไปด้วย ควรเลือกเป็นดอกเบญจมาศหรือดอกลิลลี่สีขาว แต่ที่จริงแล้ว ในประเทศญี่ปุ่น การมอบดอกไม้แสดงความอาลัยนั้นไม่เป็นที่นิยมเท่ากับการนำเงินใส่ซอง หรือที่เรียกว่า Koden (香典) เพื่อช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย โดยข้อสำคัญคือห้ามใส่ธนบัตรใหม่ลงในซอง เพราะจะสื่อความหมายว่าผู้ให้ได้คิดถึงเรื่องการเสียชีวิตไว้ก่อนแล้ว จึงมีเวลาเตรียมธนบัตรใหม่
เมื่อพูดถึงดอกไม้ที่เหมาะสำหรับแสดงความอาลัยแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ขาดไม่ได้เลยจึงเป็น ดอกไม้ที่ไม่ควรมอบให้ผู้ใหญ่ หรือนำไปเยี่ยมไข้ เช่น เบญจมาศ ดาวเรือง ซ่อนกลิ่น บานไม่รู้โรย เพราะมีความหมายเกี่ยวกับความตายหรือความเจ็บป่วย โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่ควรนำดอกไม้ในกระถางไปเยี่ยมไข้เป็นอันขาด เพราะคำเรียกไม้กระถางในภาษาญี่ปุ่นนั้น พ้องเสียงกับคำว่าการนอนหลับ ชวนให้นึกถึงการหลับใหลหรือการเสียชีวิต
ความหมายที่ซ่อนอยู่ในดอกไม้นั้น ต่อให้ไม่รู้ความหมายหรือภาษาดอกไม้ แต่บริบทในการมอบและกาลเทศะนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน รู้อย่างนี้แล้ว ครั้งต่อไปที่จะนำดอกไม้ไปมอบให้ใคร อย่าลืมเช็คความหมายที่ต้องการจะสื่อให้ละเอียด เพื่อความสบายใจของทั้งคนให้และคนรับกันนะคะ
Credit :
https://www.livinglanguage.com
https://www.pptvhd36.com
https://m.blog.naver.com/genflower/221169619184
http://sanchonhunjang.blogspot.com/2005/11/sanchon-hunjangs-guide-to-korean.html
https://fun.cheonan.go.kr/korean-rules/
https://sites.google.com/site/kruthingspk/dxkmi-ni-wrrnkhdi
http://www.wannakadee-thai.com
https://www.liveinkorea.kr/portal/THA/page/contents.do?menuSeq=5882&pageSeq=12
http://www.funeral-arrangements-guide.com/south-korea-flower-wreaths-south-korea-flower-funeral-wreaths-guide/
https://www.1800flowers.com/blog/flower-facts/history-of-funeral-flowers/
https://www.koju.co.jp/en/custom.html
https://shinsengumi-archives.github.io/japanese-wiki-corpus/culture/Koden.html
https://www.realestate-tokyo.com/living-in-tokyo/religion/funerals/
https://www.funeralwise.com
https://jpninfo.com/4235#:~:text=It%20is%20also%20impolite%20to,that%20potted%20plants%20encourage%20sickness.
The 5 Best Options for Funeral Flowers in Tokyo and Japan
https://tokyogirlsupdate.com/gift-taboos-japan-201706125931.html
https://www.thisiscolossal.com/2018/10/japanese-funeral-florals/
https://m.blog.naver.com/PostView.nhn?blogId=funnylang&logNo=220848763196&proxyReferer=https:%2F%2Fwww.google.com%2F