ใช้ ‘ดอกไม้ใช้ซ้ำ’ เพื่อบอกรักเพื่อนมนุษย์ และบอกรักโลก
เคยสังเกตไหมว่าเมื่อสิ้นสุดวันแห่งความรักในทุก ๆ ปี กลีบ เกสร และก้านจากทั่วทุกสารทิศ ต้องแปรเปลี่ยนจากช่อดอกไม้สื่อรักมากองสุมกันกลายเป็นกองขยะ ทุกครั้งที่งานเลี้ยงแสนสนุกเลิกรา ดอกไม้ที่ทำหน้าที่ประดับประดาเพื่อความสวยงามในงาน กลับเหลือทิ้งปริมาณมหาศาลภายในชั่วเวลาข้ามคืน จากดอกไม้ที่บรรจงตัดแต่ง จัดแจงใส่ช่อ เมื่อถูกทิ้งอย่างไม่ใยดีก็ทำให้เกิดแก๊สเรือนกระจก ส่งผลให้โลกร้อน
นักธุรกิจและกลุ่มรักษ์โลกเริ่มมองเห็นโอกาสของดอกไม้ใช้ซ้ำ ในวันที่ธุรกิจในวงการต่าง ๆ นิยมเข้าสู่เทรนด์เศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) แบ่งกันใช้สินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็น co-working space, Grab, Airbnb ณ วันนี้ อาจถึงวันที่เรานำสิ่งสวยงามชั่วคราวอย่างดอกไม้มาใช้ซ้ำแล้วด้วยเหมือนกัน
Elizabeth Balkan ผู้อำนวยการโครงการอาหารเหลือทิ้งจาก Natural Resources Defense Council กล่าวว่าทางแก้ของปัญหาดอกไม้เหลือทิ้งไม่ใช่การเลิกซื้อดอกไม้ เพราะผู้คนต่างรักดอกไม้ อยากมีดอกไม้ในวันสำคัญ แต่จะทำอย่างไรให้คนเห็นว่าดอกไม้เหลือทิ้งมากมายเป็นปัญหาและหาทางช่วยกันแก้ไขได้ เธอเปรียบดอกไม้เหลือทิ้งกับปัญหาที่คนคุ้นชินอย่างอาหารที่เหลือเป็นขยะ หรือ food waste หากขนมปังโลฟหนึ่งเน่าเสียไป โดยกินเหลือทิ้งขว้าง นั่นแปลว่าไม่มีการจัดการอาหารเหลือที่ดี ควรหาทางถนอมขนมปังให้เก็บไว้ได้นานขึ้น หรือนำไปแปรรูปทำเป็นเกล็ดขนมปัง เพื่อใช้ประโยชน์ได้ในรูปแบบอื่นๆ การจัดการกับดอกไม้เหลือทิ้งก็คล้ายคลึงกัน
Liza Lubell เจ้าของ Peartree Flowers บริษัทที่รับบริการตกแต่งดอกไม้พบว่า บ่อยครั้งที่มีดอกไม้เหลือทิ้งมากกว่า 100 ถุงจากงานเลี้ยงเพียงหนึ่งงาน เพราะงานแต่งงาน และงานกาล่าใหญ่ๆสมัยนี้ ไม่ได้ประดับด้วยดอกไม้แค่บนโต๊ะอีกต่อไป
แต่ทั้งเพดานและผนังมักถูกประดับด้วยดอกไม้ทั้งหมด ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอยากทำให้งานอีเวนต์ในเมืองใหญ่หลายพื้นที่ตั้งแต่นิวยอร์กไปจนถึงลอสแอนเจลิส ลดขยะจากดอกไม้ให้เหลือ zero-waste เธอจึงตั้งบริษัทชื่อ Garbage Goddess ขึ้นมา เพื่อลดปริมาณดอกไม้เหลือจากร้อยกว่าถุงให้เหลือไม่เกินสองถุงต่องาน
ดอกไม้ส่วนหนึ่งของ Garbage Goddess ส่งต่อให้ Cara Piazza นักออกแบบสิ่งทอ ผู้เปิดสตูดิโอออกแบบทำเสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติจากดอกไม้ จากคำบอกเล่าของ Cara นั้น เธอบอกว่า ดอกไม้เหลือทิ้ง 1 ช่อ สามารถนำมาทำผ้าพันคอได้ 1 ผืน หรือ กิโมโน 1 ชุด ส่วนดอกไม้เหลือใช้ 10 ถุงจากงานอีเวนต์ก็สามารถนำไปสร้างสรรค์ผลงานอื่นๆ ได้อีกเป็นเดือนเลยทีเดียว
ขยับมาที่เมืองบรุกลินกันบ้าง Revased เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่คิดค้นโมเดลธุรกิจแบบใหม่ขึ้นมา นำดอกไม้เหลือทิ้งที่คนไม่ใช้แล้วมาจัดใหม่ ขายดอกไม้ subscription แบบรายเดือนในราคาที่ถูกขึ้น เนื่องจากเป็นดอกไม้เหลือ ลูกค้าจึงไม่สามารถเลือกดอกไม้ได้ แต่จะได้ดอกไม้แบบสุ่มเซอร์ไพรส์ส่งถึงบ้านทุกเดือนแทน ซึ่งทำให้ตื่นเต้นไปอีกแบบ ทุกการซื้อดอกไม้ 1 ครั้ง Revased จะบริจาคดอกไม้ให้องค์กรการกุศลเพิ่มอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นักจัดดอกไม้บางคนอย่าง Alison Ellis ผู้อยู่ในวงการจัดดอกไม้มา 23 ปี ไม่เห็นด้วยกับการนำดอกไม้รีไซเคิลมาขายซ้ำ เธอให้ความเห็นว่าดอกไม้คุณภาพดีที่สุด คือ ดอกไม้สดใหม่เท่านั้น เมื่องานจัดดอกไม้เป็นงานคราฟต์และงานศิลปะที่ต้องพิถีพิถัน หากต้องการคุณภาพการจัดดอกไม้ที่ดีที่สุด จึงไม่ควรใช้ ‘วัตถุดิบ’ เป็นดอกไม้มือสองมาขายซ้ำ แต่เธอเห็นด้วยกับการนำดอกไม้ไปบริจาคต่อ
โมเดลธุรกิจเพื่อสังคมของ Kaifa Anderson-Hall ที่ชื่อ Plants and Blooms Reimagined อาจทำให้บรรดานักจัดดอกไม้ที่พิถีพิถันในการเลือกดอกไม้สดอย่าง Alison เปลี่ยนใจมาชอบดอกไม้มือสองได้ นักธุรกิจหญิงผู้นี้ใช้รถบรรทุกที่เธอตั้งชื่อว่า Bloom Mobile 1.0 รวบรวมดอกไม้เหลือทิ้งจากทั้งงานแต่งงาน งานเลี้ยง ตลาดเกษตรกร บริษัทขายดอกไม้ออนไลน์ จากทั่ววอชิงตัน ดี.ซี. เธอนำดอกไม้มาเก็บถนอมไว้ในตู้เย็นเป็นสัปดาห์และมอบหน้าที่ใหม่ให้ดอกไม้เหล่านั้นอีกครั้ง นั่นคือ กิจกรรมดอกไม้บำบัดกับกลุ่มผู้สูงอายุ สตรีไร้บ้านและคนพิการในเมือง เป็นคอนเซ็ปต์ที่อยากนำดอกไม้เหลือทิ้งมามอบให้คนที่ถูกทิ้งขว้างเพื่อมองเห็นความงามในชีวิต
แม้เป็นดอกไม้มือสอง แต่เวิร์คช็อปดอกไม้บำบัดช่วยฟื้นฟูทั้งสภาพจิตใจและร่างกายของใครหลายคน การใช้กรรไกรตัดดอกไม้ช่วยให้ผู้ป่วยฝึกขยับกล้ามเนื้อ ส่วนกลิ่นและสัมผัสของดอกไม้ก็ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาได้เพลิดเพลินกับการใช้ประสาท
สัมผัสจัดดอกไม้ สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่แล้ว แค่ถือดอกไม้ดอกหนึ่งไว้ก็รู้สึกเหมือนช่วยให้หลบหนีจากสถานการณ์หนักใจตรงหน้าไปได้ ดอกไม้ไม่กี่ดอกที่ประดับบนโต๊ะกินข้าว ทำให้วันจืดชืดของพวกเธอสดใสขึ้นมาได้ ไม่ว่าดอกไม้ดอกนั้นจะเป็นดอกไม้มือหนึ่งหรือดอกไม้ที่ใช้ซ้ำก็ตาม
ไม่เพียงแค่ฝั่งอเมริกาเท่านั้น เอเชียก็มีธุรกิจเพื่อสังคมรูปแบบคล้ายกันอย่าง Bloomback จากสิงคโปร์ที่นำดอกไม้จากงานอีเวนต์มาส่งมอบความสุขให้ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลผ่านการแจกจ่ายของอาสาสมัคร
หากเราใช้ดอกไม้บอกรักกันมาตลอด เรื่องเล่าของธุรกิจที่พยายามฟื้นคืนชีพดอกไม้ใช้แล้วเหล่านี้ อาจทำให้เราต้องลองกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าการรีไซเคิลดอกไม้ ไม่ปล่อยให้เหลือ Flower Waste มากมาย จะทำให้การซื้อดอกไม้ของเราโรแมนติกขึ้นไหม
รตา มนตรีวัต