ราวกลางปี พ.ศ. 2559 มีข่าวน่าตื่นเต้นสําหรับวงการพฤกษศาสตร์ไทยชิ้นหนึ่ง คือการค้นพบพืชพันธุ์ใหม่ชื่อ ‘ว่านแผ่นดินเย็นเมืองตรัง’ ตามสถานที่ค้นพบ ซึ่งนั่นก็คือพฤกษาในวงศ์ ‘ดอกกล้วยไม้ดิน’ ชนิดล่าสุดของโลก
‘กล้วยไม้ดิน’ (Ground orchid/ชื่อวิทยาศาสตร์ Spathoglottis) เป็นพืชสกุลหนึ่งจากวงศ์กล้วยไม้นับญาติได้ใกล้เคียงกับ Acanthephippium (เหยือกน้ำดอย – ฝรั่งเรียก ‘อานม้า’) Calanthe (เอื้องอั่วพวงมณี) กับ Phaius (เอื้องพร้าว) ส่วนมากมีถิ่นกําเนิดโดดเดี่ยวจากป่าบอร์เนียว ขอบทวีปออสเตรเลีย และหมู่เกาะ โซโลมอน
กล้วยไม้ดินมีลําต้น (หัว/เหง้า) รูปทรงไข่นอนหลับใหลอยู่ใต้ผืนดิน มีแนวข้อปล้องชัดเจน ส่วนบนมีโคนกาบใบหุ้มเป็นแถบ อาจยาวได้กว่าหนึ่งเมตร แผ่นใบบาง แข็ง ปลายแหลม โคนเรียวเล็กน้อย ออกดอกตรงปลายช่อ ก้านดอกตั้งตรง กลีบดอกสีชมพูหรืออาจถึงสีม่วงเข้ม กลีบปากเล็กและสั้น สีจะแลเห็นว่าเข้มกว่ากลีบอื่น ๆ กลางกลีบปากบีบคอดสวนทางกับตรงปลายซึ่งแผ่กว้าง สามารถออกดอกดกดื่นได้ตลอดปีโดยเราสามารถจําแนกชนิดของกล้วยไม้ดินออกได้สองประเภท คือหนึ่ง กล้วยไม้ดินประเภทผลัดใบตามฤดูกาล กับสอง กล้วยไม้ดินประเภทไม่ผลัดใบตามฤดูกาล
ประเภทหนึ่งนั้นพบได้กลางป่าแถบจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก ส่วน ประเภทที่สองเห็นได้มากตามเนินเขาทางภาคใต้ของประเทศไทย สิริรวมแล้วที่ผ่าน มาเราค้นพบกล้วยไม้ดินพันธุ์ไทยเพียง 45 ชนิดเท่านั้น
คิดถึงเพลง ‘เอื้องดิน’ ที่ ‘สุเทพ วงศ์กําแหง’ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล – ขับร้อง) ประจําปี พ.ศ. 2533 ฝากไว้ในคีตพิภพ
“…สวยเอยเจ้าดอกกล้วยไม้
เอื้องดิน
กลิ่นรวยรินตามลม
น้ำค้างพร่างพรม
ช่อพริ้วลมแลสล้าง
สดฉวีสีเจ้างามไม่สร่าง
เจ้าซ่อนอยู่กลาง
หว่างพฤกษ์พงแดนไกล”
ดอกกล้วยไม้ดินมีชื่อเรียกน่ารักถ่อมตนสําเนียงล้านนาว่า
‘เอื้องดิน’