ด้วยธรรมชาติของ ‘ดอกมะเขือ’ ซึ่งค้อมน้อมลงมองดิน เสมือนผู้อยู่ในอาการ เคารพนบนอบ คารวะบุคคลที่ตนเคารพยกย่อง จากเหตุหรือลักษณะดังนี้ ดอกมะเขือจึงทดแทนสัญลักษณ์หนึ่งของพิธีการสําคัญของคนไทย – พิธีไหว้ครู
สําทับด้วยข้อเท็จจริงทางการเกษตรว่า หากดอกมะเขือดอกใดชี้ขึ้นคล้ายดอกไม้ชนิดอื่น ๆ ดอก ๆ นั้นจะไม่ติดผล มันจะเน่าร่วงหล่น เหมือนบุคคลซึ่งขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน ขาดความเคารพแก่ครูบาอาจารย์ย่อมหมดโอกาสรับการถ่ายทอดความรู้สุดท้ายก็ร่วงหล่นจากไปอย่างไร้คุณค่า
ตํานานพุทธศาสนสุภาษิตมีปรารภอย่างแจ้งชัดไว้ว่า
“ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑ นี้เป็นอุดมมงคล เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทํามงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ”
ดอกมะเขือทั่วไปมีสีม่วงเข้ม เเล้วจึงค่อยจางลงเป็นสีขาว ออกช่อกระจุกตามซอกใบตรงปลายกิ่ง โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันสั้น ๆ ปลายแยกห้าแฉกเรียวแหลม ด้านนอกมีขนอ่อนปกคลุม โคนกลีบดอกเชื่อมแผ่ลักษณะกรวยบาน แนวกลางกลีบ มีขนสั้นปกคลุม ดอกมักบานพร้อมกันหลายดอก ดอกมะเขือเมื่อบานเต็มที่จะกว้าง ราว ๆ หกถึงเจ็ดเซนติเมตร
เมื่อดอกคือมารดาของผล ประโยชน์แห่งผลจึงคือคุณของมารดา
มีงานวิจัยของประเทศอินเดียชิ้นหนึ่ง ทําการทดลองใช้สารสกัดจากน้ำของผล ‘มะเขือเปาะ’ เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองที่เป็นโรคเบาหวาน และพบว่า สารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเทียบเท่ากับการใช้ยาไกลเบนคลาไมด์ (glibenclamide) ซึ่งใช้สําหรับรักษาโรคเบาหวานทีเดียว ดังนั้นคนอินเดียจึงมักต้มผลมะเขือเปาะ นําน้ำมาดื่มรักษาเบาหวาน
มะเขือยังช่วยลดไข้ลดอาการอักเสบ – ความดันเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อ กระตุ้นการเผาผลาญ กระตุ้นระบบขับถ่าย ช่วยขับพยาธิรักษาเบาหวาน ต้านมะเร็ง และช่วยบํารุงหัวใจ
เขียนมาถึงตรงนี้เลยนึกถึงคําผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟัง ท่านบอกกว่า “ดอกมะเขือมันโค้งก้มต่ำลง เพราะดอกมันหนัก หนักด้วยคุณค่ามากมาย ก่อนกลายเป็นผลก็เหมือนผู้เปี่ยมภูมิปัญญา หรือคุณค่าในตน ซึ่งมักจะแสดงออกอย่างนอบน้อมต่อผู้อื่ นเสมอ”
ดอกมะเขือจึงคือตัวแทนของผู้ตระหนักในคุณค่าแห่งตนจริง ๆ
RakDok