‘ดอกเข็ม’ มีชื่อตรงกันกับภาษาอังกฤษ ‘Needle Flower’ ตามความเชื่อดั่งเดิมของไทยโบราณมักลงปลูกต้นเข็มเป็นแนวรายรอบรั้วบ้าน นัยว่าเพื่อป้องกันเสนียดจัญไร หรือสิงอัปมงคลต่าง ๆ ด้วยถือเคล็ด ‘เข็ม’ คืออาวุธทิ่มตําศัตรูผู้คิดร้าย โดยสีแดงคือฤทธิ์อํานาจด้านดีคอยกางกันศัตรู และสิ่งชั่วร้ายอันมองมิเห็นได้
จนต่อมาจึงเริ่มขยายความเชื่อเพิ่มมาว่าดอกเข็มคือ ‘ความแหลมคมทางปัญญา’ ซึ่งเสริมช่วยผู้คนแลบริวารบนบ้านให้ฉลาด มีปัญญาเฉียบแหลม ซึ่งส่งผลเพิ่มพูนปฏิภาณไหวพริบ เอาตัวรอดปลอดภัย หรือหากบ้านใดมีเด็กเล็กวัยศึกษาเล่าเรียน ดอกเข็มก็กระตุ้นเด็ก ๆ สนใจใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมเสมอ
โดยคงยืมหลักคิดมาจากชนชาวไทย (และอุษาคเนย์) ใช้ดอกเข็มในพิธีไหว้ ครู (ครุบูชา) ขอพรเพื่อเป็นปราชญ์ เป็นราชบัณฑิต หรือเป็นผู้มีสติปัญญาฉลาดหลักแหลม นอกจากนี้ยังใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพิธีทางศาสนาทั่วไปในย่านอุตระ ประเทศ โดยถือว่าคือสิริมงคลแก่ตน
ต้นเข็มมีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงปานกลาง มีความสูงประมาณครึ่งเมตร ส่วนดอกเข็มอันมีลักษณะโดดเด่นสวยงาม ออกดอกตลอดปีเป็นช่อรูปซี่ร่ม กลีบดอกในตาดอกเรียงจรดกัน มีความสมมาตรอย่างวงรัศมีกลีบดอกเชื่อมติดกัน มีห้ากลีบ กลีบเลี้ยงห้ากลีบ เกสรเพศผู้สีเหลืองสี่อันติดอยู่ตรงหลอดดอกด้านบน ใน ขณะที่เกสรเพศเมียหนึ่งอันจะยื่นเลยหลอดดอกออกมา
ถึงตรงนี้คงทราบแล้วว่า ‘เข็ม’ หนึ่งเดียวในดอกนั้นคืออะไร
ดอกเข็มเป็นพืชประดับอีกชนิดหนึ่งซึ่งรับประทานได้ส่วนดอกมีรสชาติหวานมัน รับประทานได้ทั้งดอกสด เช่น ยํา หรือผักแนมจิ้มน้ำพริก แต่บางคนนิยม ชุบแป้งลงทอดในน้ำมันร้อน ๆ ก็ถือว่าเป็นอาหารสวยงามอีกรูปแบบหนึ่ง และมีสรรพคุณทางยามากมาย – เช่น
รากต้นเข็มช่วยขับเสมหะ ลดไข้เป็นยาบํารุงธาตุไฟ แก้โรคบิด และลดอาการบวม ใบช่วยถ่ายพยาธิดอกกับรากสามารถรักษาโรคตาได้แต่ก็คงต้องระวังสารปนเปื้อนกันให้มาก มิใช่ว่าเห็นต้นเข็มที่ไหนก็จะพากันปรี่เข้าไปทึ้งดึงเอาเป็นอาหารได้ทุกที่
หากคิดปลูกต้นเข็มในบริเวณบ้าน ควรปลูกตั้งแนวไว้ทางทิศตะวันออก และ จากความเชื่อที่ว่า ถ้าปลูกไม้เพื่อประโยชน์ทางดอกแล้ว ควรลงปลูกตรงวันพุธจึงจะถูกต้องตามตํารา
RakDok