Skip to content

Floral Inspiration Edutainment

RakDok (รักดอก)

ดอกแจ๊คคาแรนดาในขวดแยม และบ้านในดินแดนอื่น


  • 16 กรกฎาคม 2020
  • 3370 Views
ดอกแจ๊คคาแรนดาในขวดแยม และบ้านในดินแดนอื่น

ดอกไม้จากแผ่นดินอื่น ที่ผลิบานในออสเตรเลีย

    ถ้าเรียกได้, ฉันก็อยากเรียกแจ๊คคาแรนดาว่าดอกไม้โพ้นทะเล 
    เรียกในความหมายเดียวกันกับที่ฉันเรียกชาวจีนพลัดถิ่นว่าชาวจีนโพ้นทะเลนั่นแหละ 

    ฉันคิดเองเออเองว่าจีนเป็นชนชาติที่พลัดถิ่นเก่งที่สุดแล้วในย่านนี้ (อย่างน้อยก็ในย่านชีวิตแคบเอียงของฉันเองนี่แหละ) ใครไปที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ก็ต้องเจอชาวจีนโพ้นทะเลเนียนชีวิตตัวเองอยู่ในดินแดนใหม่เหล่านั้นกันบ้าง, ไม่มากก็น้อย 

    โน่นแหละ, จนฉันได้มาเจอกับแจ๊คคาแรนดา ดอกไม้โพ้นทะเลในออสเตรเลีย ความคิดเองเออเองของฉันก็ปลิวไป ฉันว่าสกิลโพ้นทะเลของแจ๊คคาแรนดาก็เนียนไม่แพ้ใครเลยนะ จีนโพ้นทะเลก็จีนโพ้นทะเลเถอะ

    “นี่เธอ — แจ๊คคาแรนดาน่ะ ต้นกำเนิดเค้ามาจากแถวอเมริกาใต้ แจ๊คคาแรนดาในออสเตรเลียที่เธอกำลังพูดถึงอยู่นี่ก็ด้วย พื้นเพเค้าก็มาจากบราซิล ก่อนที่จะถูกอุ้มมาตั้งรกรากเป็นฝนม่วงที่ตกประจำอยู่ที่ออสเตรเลียตั้งแต่ในช่วงกลางศตวรรษ 1800 หลังจากนั้นก็โปรยชีวิตตัวเองไปทั่วแดนจิงโจ้ สมกับชื่อเล่นว่า jacaranda rain เอย, purple rain เอย ส่วนใครอุ้มแจ๊คคาแรนดามาที่นี่นั้น ประวัติศาสตร์ก็เล่าลือกันหลวม ๆ ไปสารพัดสำนวนแบบจับมือใครดมก็ได้ เรื่องงอกมาเล่าต่อกันไปเรื่อย ๆ บ้างก็ว่านักพฤกษาศาสตร์อาณานิคมที่ชื่อ Allan Cunningham เป็นคนนำเมล็ดแจ๊คคาแรนดาเข้าสู่โลกตะวันตก เริ่มที่อังกฤษก่อนที่แกจะย้ายมาอยู่ออสเตรเลีย บางตำรับก็ว่าเป็นฝีมือการอุ้มของกัปตันจากอเมริกาใต้ อาจจะเป็น Sir James Martin ที่หยอดเมล็ดแรกของแจ๊คคาแรนดาลงบนแผ่นดินจิงโจ้นี่ แต่มือหยอดที่เขาว่ากันว่าแจ้งเกิดให้แจ๊คคาแรนดาแบบปักหมุดได้ในออสเตรเลียนี่คือคุณผู้จัดการของ the Brisbane Botanic Gardens – จีนโพ้นทะเลอะไรของเธอกันล่ะ!”

    ไหน ๆ ประวัติศาสตร์ก็เล่าแบบไม่เกี่ยงสำนวนขนาดนี้แล้ว ขอฉันเล่าด้วยคนนะ, เล่าผ่านมุมสอดรู้สอดเห็นชีวิตดอกไม้อื่นของฉันนี่แหละ ฉันแค่อยากรู้ว่าดอกไม้พลัดถิ่นดอกนี้ไปตีซี้กับเจ้าถิ่นจนสนิทแนบอย่างกะญาติข้างแม่ของเขาได้ยังไงกัน? ลำพังอาศัยบารมีความน่ารักน่าชังของตัวเองอย่างเดียว ไม่น่าจะพอนะ เพราะถ้าจะใช้มุกนี้ก็ต้องยอมรับว่าจะใช้ได้แค่ปีละครั้งเอง – สนิทกันไม่ทันหรอกมั้ง! 

    ถ้าจะสนิทกันในระดับที่คนออสซี่เองก็ลืมอยู่บ่อย ๆ ว่านี่คือดอกไม้ต่างบ้านต่างเมือง แจ๊คคาแรนดาก็น่าจะทำอะไรได้มากกว่าแค่…สวยโฉบไปโฉบมาปีละครั้ง, ว่ามั๊ยทุกคน?

    เท่าที่ฉันไปส่องมาได้ ดอกไม้โพ้นทะเลดอกนี้ก็ช่วยทำงานหาเงินด้วยนะ พอถึงฤดูแจ๊คคาแรนดาในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ทุกพวงช่อม่วงจะยิ้มต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วมุมโลกราวกับเป็นเจ้าบ้านดั้งเดิมดึกดำบรรพ์มาแต่ชาติปางไหน แจ๊คคาแรนดาจะสวยสะกดเรียกแขกจนทัวร์ลงพรึ่บ – ทัวร์จริงเที่ยวจริง ไม่ใช่ทัวร์ถล่มนะเธอ นักท่องเที่ยวหลายคนนั้นเรียกได้ว่าปักหัวรักเจ้าฝนม่วงนี่ในระดับพลีชีพกันเลยทีเดียว ดูแค่การโพสต์ท่าถ่ายรูปแบบหมายใจจะทิ้งชีวิตไว้กลางถนนเพียงเพื่อให้ได้เก็บความทรงจำไว้กับโปรยฝนม่วงนั่น เธอก็รู้เหมือนที่ฉันรู้…มีแต่อาการรักแรงหลงแรงเท่านั้นที่จะดลใจให้คนเราก๋ากั่นฉีกยิ้มใส่ความตายกลางถนนได้ขนาดนั้น 

    แต่ถึงจะขนาดนั้นแล้วก็เหอะ ทั้งความสวยและความหาเงินเก่งก็ไม่เคยมัดใจใครให้อยู่กับใครได้ตลอดรอดฝั่ง…เธอรู้แหละน่า เรื่องนี้เลยไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ทำให้ดอกไม้โพ้นทะเลถูกนับญาติราวกับเป็นดอกไม้ท้องถิ่นที่โตมาด้วยกันจริงๆ กับผู้คนในแดนจิงโจ้ เรื่องของเรื่องมันเนียนกว่านั้นได้อีก เมื่อสองชีวิตนั่นเข้าใจกันไปเองจริง ๆ ว่า…พวกเขาโตมาด้วยกันดุจญาติ

    บทความหนึ่งโดยคุณ Helen Pitt ในหนังสือพิมพ์ the Sydney Morning Herald ตีพิมพ์ในปี 2018 ได้เผยให้เห็นร่องความสนิทระหว่างคนออสซี่กับดอกไม้โพ้นทะเลดอกนี้ที่ลึกลงไปจนถึงช่วงเวลาแรกเกิดของกันและกัน เรื่องเล่าย้อนเวลากลับไปในช่วงต้นทศวรรษ 1950 เมื่อคุณพยาบาล Irene Haxton ยังทำงานในโรงพยาบาลเอกชนที่ชื่อว่า Jacaranda Maternity Hospital แกจะเตรียมเมล็ดแจ๊คคาแรนดาใส่ไว้ในขวดแยมให้เด็กแรกเกิดทุกคนได้นำติดตัวไปปลูกต่อที่บ้าน เด็กแรกเกิดและเมล็ดแจ๊คคาแรนดาจะเดินทางกลับบ้านพร้อมกัน และโตขึ้นมาพร้อม ๆ กัน…ในบ้านหลังเดียวกัน 

    เด็กเกิดใหม่ในรุ่นนั้นต่างก็มีต้นแจ๊คคาแรนดาเกิดใหม่เป็นของตัวเอง สนิทมากพอมั้ยล่ะ! 

    ความสนิทดูจะแน่นขึ้นไปอีก เมื่อคุณพยาบาล Haxton ได้ออกมา #SaveJacaranda กลางที่ประชุมสภาท้องถิ่น ซึ่งต้องการจะปรับปรุงถนนพร้อมกับแทนที่ต้นแจ๊คคาแรนดาด้วยต้นไม้อื่น โชคดีของแจ๊คคาแรนดาที่คุณประธานสภา Michael Tynan คือหนึ่งในเด็กแรกเกิดที่คุณพยาบาล Haxton แกทำคลอดมา และในฐานะที่แจ๊คคาแรนดาทุกต้นคือตัวแทนของเบบี๋ทุกคนสำหรับคุณพยาบาล Haxton คุณประธานสภาก็เลยเจอกับประโยคชีวิตเข้าไปอย่างจัง

    “คุณ Tynan ฉันเป็นคนพาคุณมายังโลกใบนี้ และฉันก็เป็นคนให้เมล็ดแจ๊คคาแรนดากับแม่ของคุณ และทุกครั้งที่ฉันขับรถผ่านต้นแจ๊คคาแรนดา ฉันก็รู้สึกภูมิใจในความสำเร็จของคุณ…จนกระทั่งถึงตอนนี้” – ประโยคนี้แปลเป็นไทยได้อย่างเดียวเลยว่าความภูมิใจนั่นอาจจะไม่ได้ไปต่อ…ถ้า! 

    เจอประโยคชีวิตชนโครมเข้ามาขนาดนี้ เลิกเดากันได้เลยว่าใครจะอยู่หรือใครจะไประหว่างดอกไม้โพ้นทะเลกับโปรเจคปรับปรุงถนนที่ริจะย้ายเบบี๋ออกไปจากชุมชน

    ไม่ใช่แค่คนออสซี่ที่ปกป้องชีวิตของดอกไม้โพ้นทะเล แจ๊คคาแรนดาเองก็กลายเป็นที่พึ่งพิงทางใจของผู้คนที่นั่นเช่นกัน ในปี 2020 หน่วยงานเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเด็กในรัฐควีนส์แลนด์ได้เปิดศูนย์สุขภาพจิตสำหรับดูแลเด็กวัยรุ่นที่มีปัญหาซับซ้อนรุนแรงเกี่ยวกับจิตใจ ศูนย์นี้ถูกตั้งชื่อว่า “Jacaranda Place” ด้วยเหตุผลว่าแจ๊คคาแรนดาคือความเข้มแข็ง การเยียวยา ภูมิปัญญา การเกิดใหม่ และความโชคดี แจ๊คคาแรนดาคือดอกไม้ที่สามารถเติบโตได้ในสภาวะอันยากลำบาก บานปีละครั้ง แต่ทุกครั้งก็โชว์ความงดงามอย่างแท้จริง นี่ผู้อำนวยการศูนย์แกบรรยายถึงสรรพคุณของแจ๊คคาแรนดาเองเลยนะ บรรยายเคลิ้มขนาดนี้ ชื่อศูนย์แห่งนี้คงไม่ได้มาเล่น ๆ 

    สุดท้ายชีวิตก็ฟ้องตัวมันเองกับทั้งโลก ทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกแห่งจินตนาการ ดอกไม้โพ้นทะเลกับคนท้องถิ่นเขาร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาหมดทุกโลกนั่นแล้ว ร่วมทุกข์เฉลี่ยสุขกันมาตั้งแต่ต่างฝ่ายยังเป็นแค่เพียงเมล็ดชีวิตเล็ก ๆ ด้วยกันทั้งคู่

    ดอกไม้ก็เหมือนมนุษย์ มีแต่การร่วมทุกข์ร่วมสุขแบบจมหัวจมท้ายไปด้วยกันเท่านั้นแหละที่ยืนยันมิตรภาพแนบแน่นราวกับเป็นแกะพี่แกะน้องคลานตามกันมา แล้วต่อให้มีชาติกำเนิดเดียวกัน แต่ไม่ไยดีจะร่วมหัวจมท้ายแบ่งทุกข์แบ่งโศกกันและกันบ้าง ความสัมพันธ์ด้านชาแบบนั้น นั่นก็แค่ความเป็นอื่นที่พลัดถิ่นอยู่ในแผ่นดินของตัวเอง

    ชีวิตโพ้นทะเลของแจ๊คคาแรนดาบอกฉันว่า “บ้าน” อาจไม่จำเป็นต้องนับจากช่วงเวลาสั้น ๆ แห่งการเกิดเสมอไป หากแต่นับใหม่ก็ได้ด้วยจากความตาย นับใหม่จากความวางใจจะฝากชั่วชีวิตฝังไว้ จวบจนวินาทีที่ความตายเข้ามาทำหน้าที่หายใจแทนชีวิต, มีหลายคนบนโลกใบนี้เลือกบ้านที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยเหตุผลแบบนี้นะ เหตุผลจากความตาย 

    ตราบเท่าที่ไม่มีอะไรในชีวิตที่คงรูป วิธีนับว่าอะไรแค่ไหนถึงเรียกว่า “บ้าน” ก็ไม่คงรูปเช่นเดียวกัน กาลเวลาบนหน้าปัดนาฬิกานั่นก็ด้วย ไม่มีอะไรคงรูปทั้งนั้นแหละบนโลกใบนี้…อย่ามา

“นี่เล่าเพื่อ?”

ไม่ได้เล่าเพื่อ แค่เล่าเผื่อไว้
    เล่าลอย ๆ เผื่อไว้….เผื่อใครคิดจะย้ายชีวิตไปเป็นดอกไม้โพ้นทะเลที่ไหนสักที่ ก็ขอให้ได้เป็นดอกแจ๊คคาแรนดานะ เราก็รู้เหมือนที่แจ๊คคาแรนดารู้…ทุกชีวิตล้วนควรค่าแก่การมีสถานที่อบอุ่นปลอดภัยเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “บ้าน” ด้วยกันทั้งนั้น

ศิริจินดา

Previous Posts


  • 10 กรกฎาคม 2020
  • 20703 Views

‘ดอกคัตเตอร์’ ตำนานดวงดาวบนพื้นดิน

หยาดน้ำตาของดวงดาวกับความเศร้าหลากเวอร์ชั่น     ‘ดอกคัตเตอร์’ หรือที่บางคนรู้จักในชื่อ ‘ดอ

  • 27 มิถุนายน 2020
  • 5567 Views

เขายื่นดอกไม้ให้เธอในบทเพลง Lyrics of Flowers

    ดมกลิ่นหอมของดอกไม้ในบทเพลง     เสียงคอร์ดเปียโนที่ไล่ระดับอารมณ์จ

  • 25 มิถุนายน 2020
  • 3419 Views

เหตุใด ‘กุหลาบแดง’ จึงเป็นตัวแทนแห่งความรัก

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:Birth_of_Venus.jpg    

  • 23 มิถุนายน 2020
  • 5536 Views

รู้จัก 8 ไม้เลื้อยน่าปลูกจากเพลง ‘อุทยานดอกไม้’ เนรมิตรั้วบ้านให้เป็นกำแพงบุปผชาติ

  • Culture
  • พัธรพงศ์
  • 5536 Views

เติมเครือไม้ให้ปลิวไสว เร้าใจในอุทยาน ชมผกา จำปา จำปี กุหลาบ ราตรี พะยอม อังกาบ ทั้งกรรณิก

  • 19 มิถุนายน 2020
  • 3480 Views

บุปผาวารี ศิลปะการลอยดอกไม้บนผืนน้ำที่ทำให้ใจสงบนิ่ง

  • Culture
  • พัธรพงศ์
  • 3480 Views

เรียนรู้การทำสมาธิผ่านดอกไม้ และเพิ่มเวลาให้เขาอยู่กับเรานานที่สุด   “คนที่ผ่านไปมามักคิดว

Recent Posts


เที่ยวทิพย์! ทัวร์ออนไลน์ ‘เทศกาลดอกทิวลิป’ 2021 ประเทศเนเธอร์แลนด์

ภาพถ่ายดอกไม้จมน้ำ เบลอเส้นจำกัดระหว่างโลกความจริงและห้วงความฝัน

  • Art
  • Siri P.
  • 2354 Views

เมื่อความสดชื่นของดอกไม้ รังสรรค์มื้ออาหารให้น่าทานกว่าทุกครั้ง

  • Art
  • Siri P.
  • 2597 Views

ดอกไม้ไร้สมมาตร จากปลายพู่กัน ‘ราเชล รุสช์’ ศิลปินชาวดัตช์สู่ภาพวาดดอกไม้แหวกขนบศิลปะ

RakDok Playground : Ep. 4 มหัศจรรย์แดนมาลี (ถ่ายภาพเล่านิทาน ตอนที่ 2)

RakDok Playground : Ep. 3 Black Butterfly