ฉันอยากได้ยินเสียงดอกไม้ของคุณ คุณคือดอกอะไร?
ดอกไม้คืออะไร?
ทำไมเจ้าของแววตาระยับนั่นถึงได้ปักใจเชื่อลงไปในทุกกิ่งก้านใบของบทสนทนาขนาดสั้นระหว่างเรา – เชื่อว่าฉันมีดอกไม้อยู่ในตัวเองและเธออยากได้ยินเสียงดอกไม้ของฉัน
ฉันยืนยันกับเธอว่าแถวนี้ไม่มีดอกไม้อะไรทั้งนั้น เธอยืนยันกับฉันว่าเธอได้ยินเสียงของมันในน้ำเสียงของฉัน — เธอมั่นใจ
บทสนทนาระหว่างเราเกิดขึ้นในค่ำคืนแปลกประหลาด ณ วันเดือนที่โลกใบเก่าจู่ๆ ก็ถูกสาปให้หายไปในชั่วดีดนิ้ว แล้วสมาชิกผู้มาใหม่, ไวรัสแปลกหน้า, ก็ได้ย้ายโลกอีกใบมาขออาศัยอยู่กับเรา New Normal ไวรัสบอกเท่านั้น เท่านั้นเอง ที่เราทั้งโลกต่างก็พร้อมใจกันแผดร้อง — ตื่นตระหนก, ฉันก็ด้วยคนหนึ่ง, โลกคุ้นเคยทั้งใบเลยนะนั่น ที่กำลังละลายหายไปต่อหน้าต่อตา
ณ ชั่วขณะที่เราต่างลนลานหยิบคว้าวันคืนเก่าๆ ติดไม้ติดมือมากันไม่ได้เลย — เรากรีดร้อง และเรากรีดร้อง เป็นชั่วขณะแบบนั้นนั่นแหละ, ที่เธอได้ยินเสียงดอกไม้ในตัวฉัน! เสียงที่ฉันเองไม่เคยได้ยิน
ดอกไม้คืออะไร? ทำไมคนหลายคน, รวมฉันด้วย, ถึงคิดว่าตัวเองไม่ใช่ ไม่มี และไม่เป็นดอกอะไรทั้งนั้น
ดอกไม้คืออะไรเหรอ! — เราถึงได้ปฏิเสธดอกไม้ในตัวเองกันเสียงแข็งขนาดนี้? ขนาดที่ฉันปฏิเสธตัวเองออกมา
เธอเดา – คงเพราะเราหลายคนอาจยังไม่เคยได้ยินเสียงดอกไม้ของตัวเอง
แล้วดอกไม้มีเสียงของตัวเองด้วยเหรอ? — มีสิ เธอตอบ เราทุกคนมีเสียงของตัวเอง
คำตอบของเธอพาฉันกลับไปหา เซร์ดาร์ เอิซคาน (Serdar Ozkan) นักเขียนชาวตุรกีกับนิยายเรื่องแรกของเขาที่ถูกตีพิมพ์ไปกว่า 50 ประเทศทั่วโลก
The Missing Rose นิยายเล่มบางที่แนะนำตัวเองเป็นภาษาไทยกับเราในชื่อ “กุหลาบที่หายไป”
สำหรับฉัน, นิยายเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงการค้นหาตัวเองหรอก มันพูดถึงตัวตนของเราเองที่ถูกขโมยหายไปต่างหากล่ะ และสิ่งที่ขโมยตัวตนของเราไปจากเรานั้น ก็หาใช่ใครอื่นไกลที่ไหน แต่เป็นปรารถนาของเราเอง…ที่ดันหัวอ่อนวิ่งไล่ตามปรารถนาของคนอื่น ยิ่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ยิ่งหัวอ่อน ปรารถนาแต่การชื่นชมและการยอมรับจากคนอื่น…นอกตัวเอง ปรารถนาแบบนี้แหละที่ขโมยความฝันของเราไป ขโมยคุณค่าของเรา ขโมยความเป็นเรา—ไปจากตัวเราเอง และนับเนื่องจากนิจนิรันดร์นั้นเรื่อยมา เราหลายคนก็ใช้ชีวิตโดยยืมปรารถนาของคนอื่นหายใจ
เอิซคานให้หญิงสาวของเรื่องเป็นภาพตัวแทนของชีวิตที่ขโมยความฝันของตัวเอง จากหญิงสาวที่ฝันอยากเป็นนักเขียนแต่ก็เลือกการเป็นนักเรียนกฎหมาย หญิงสาวที่หมั่นลดทอนคุณค่าของตัวเองลง, จะโดยไม่รู้ตัวหรือโดยตั้งใจ, ฉันก็ไม่รู้, รู้แค่ว่าเธอสวมใส่ชีวิตตัวเองด้วยชุดคุณค่าของคนอื่นที่ออกแบบสำเร็จรูปไว้ให้แล้ว, “ชีวิตที่ดี” ต้องสวมชุดแบบนี้ –
“แม่คะ อย่างที่เรารู้กัน มีแต่แม่คนเดียวเท่านั้นที่มองว่างานเขียนของฉันดี แต่คนอื่นนอกนั้น, เขาไม่คิดว่ามันดีนะคะแม่”
หญิงสาวทิ้งตัวตนของเธอลงและบรรจงสวมหน้ากากหลอกชีวิตตัวเองไปวันๆ ว่าเธอคือใคร เธอควรกลายเป็นใคร หากเธอจะไม่เป็นตัวของเธอเอง หากเธอจะไม่เป็นนักเขียนตามปรารถนาของใจเธอ
“ชีวิตแบบนี้มีราคาที่ต้องจ่าย”
กุหลาบในสวนของมิสเซย์เนพพูดเตือนสติกุหลาบด้วยกันเอง, การสวมหน้ากากใส่ชีวิตตัวเองมีราคาที่ต้องจ่าย การสวมถุงมือเพื่อลบรอยนิ้วมือซึ่งเป็นเอกลักษณะเฉพาะตัวของเราเอง…มีราคาที่ต้องจ่าย หญิงสาวของเรื่องก็เช่นเดียวกัน ความสุขของเธอไม่ได้งอกออกมาจากละอองเกสรดอกไม้ที่มีรากหยั่งลึกลงไปในชีวิตของเธอเอง แต่ประดิดประดอยออกมาจากสายตาแห่งความอิจฉาและการยอมรับจากผู้คนรอบตัว
“ความสุข” แบบนั้นโคตรเศร้า
ความสุขที่ถูกสาปให้ปรากฎตัวผ่านสายตาขี้อิจฉาของผู้คนรอบข้างเท่านั้น – โคตรเศร้าพ้นไปจากสายตาจับจ้องทำนองนี้แล้วก็ดูเหมือนว่าหญิงสาวของเราจะไม่สามารถหยิบจับอะไรมานับว่าเป็นความสุขของชีวิตได้เองเลย, เศร้ามั้ยล่ะ!
ตรงกันข้าม ความทุกข์ของเธอกลับตกเป็นของเธอแต่เพียงผู้เดียว มันไม่เคยใช่ความทุกข์ของผู้คนทั้งสังคม เจ้าของแววตาขี้อิจฉาที่ไหนกันจะมาแบกทุกข์ร่วมไปกับหญิงสาวของเรา แล้วหญิงสาวของเราที่เติบโตเรียนรู้ไปแล้วว่าต้องสวมหน้ากากเข้าหาชีวิตตัวเอง เพื่อที่จะอวดสุขในแบบที่สังคมอยากอิจฉา เธอจะปล่อยทุกข์โฮใหญ่ออกมาให้ทั้งสังคมเห็นได้อย่างไรกัน ต่อให้เธอไม่ได้อยากเป็นทนายสักแค่ไหน แต่เธอก็ต้องปั้นหน้าภูมิใจนักหนากับการได้เป็นนักเรียนกฎหมาย เพราะสังคมเลือกไว้ให้แล้วว่านี่คือความน่าอิจฉาที่สุด
เหรอ!
เปล่าเลย! — นี่คือราคาที่ชีวิตสวมหน้ากากต้องจ่ายต่างหากล่ะ
เอิซคานพาหญิงสาวออกเดินทาง, ไม่ใช่เพื่อตามหาตัวตนที่เธอไม่รู้จัก, แต่เพื่อ “ถอดหน้ากาก” ทวงคืนตัวตนของเธอเองกลับมาจากเธออีกคน เธออีกคนที่ไม่เคยฟังเสียงในใจของตัวเองเลย เอิซคานให้หญิงสาวของเราฝึกฟังเสียงของกุหลาบที่อยู่ในตัวเธอเอง เพื่อที่จะได้ยินเสียงของชีวิตเธอเองเสียที
เธอคือเธอ, เธอไม่ใช่เทพี —
บทสนทนาของกุหลาบในสวนของมิสเซย์เนพ ที่สุดท้ายก็ดังก้องออกมาจากตัวตนข้างในของหญิงสาวเอง, ดีใจด้วยนะเธออ่านจบแล้ว, หลายคนอาจจะคิดว่านี่ก็แค่นิยายอีกเรื่องหนึ่งที่ตอกย้ำการจับคู่ระหว่างผู้หญิงกับดอกไม้….ผ่านความไร้เดียงสาของชีวิต, เชื่อสิ…ใครหลายคนกลัวการถูกจับคู่ทำนองนี้แหละ ฉันหรือคนอื่นๆ อีกหลายคนที่ด่วนปฏิเสธว่าไม่มีดอกไม้อยู่ในตัวเอง ก็อาจเพราะความกลัวแบบนี้ด้วย, อย่าปากแข็งเลย
ไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงหรอกที่คู่กับดอกไม้, นั่นนิทานหลอกตัวเอง
“กุหลาบที่หายไป” บอกฉันว่า…ใครๆ ก็มีดอกไม้ในตัวเองด้วยกันทั้งนั้น – ดอกไม้ไม่มีเพศ
เสียงของชีวิตไม่มีเพศ, ได้ยินคือได้ยิน, ไม่ได้ยินก็คือพลาดไป ใครได้ยินเสียงของดอกไม้ในตัวเองก่อน ชีวิตก็จะได้ถอดหน้ากากที่ใส่หลอกตัวเองออก – ก่อนใคร
ใครคนแรกในนิยายที่ได้ถอดหน้ากากออกก่อนใคร…คือชายหนุ่มของเรื่อง ชายหนุ่มผู้ค้นพบดอกไม้ในตัวเอง ก่อนหน้านี้เขาคือนักเรียนเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด ผู้ลาออกมาเป็นศิลปินนักวาดรูปข้างถนนด้วยเหตุผลส่วนตัว:
“ก่อนที่มันจะสายเกินไป,
ผมรู้แล้วว่าผมจะไม่มีวันพัฒนาฝีมือวาดรูปของผมโดยการฟังเลคเชอร์จากอาจารย์เศรษฐศาสตร์” ดูดีแค่ไหนกันเวลาที่คนเราเจอดอกไม้ในตัวเอง
“อะไรที่ผมระบายบนผืนผ้าใบก็คืออะไรที่อยู่ข้างในตัวผมนั่นแหละ”
ชายหนุ่มผู้ค้นพบดอกไม้ในตัวเองบอกหญิงสาวไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องแล้ว ตั้งแต่ตอนที่หญิงสาวยังไม่เคยได้ยินเสียงดอกไม้ของเธอเอง
เราทุกคนต่างมีดอกไม้ในตัวเอง New Normal ของโลกใบใหม่คืออะไร…ไม่มีใครรู้ และอาจไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ ตราบเท่าที่เรารู้ว่า—เราต่างมีดอกไม้ในตัวเอง
คุณคะ, ฉันอยากได้ยินเสียงดอกไม้ของคุณ
คุณคือดอกอะไร?
สำหรับฉัน, ฉันไม่ใช่ทั้งชายหนุ่มและหญิงสาวของเอิซคาน — ฉันไม่ใช่ดอกกุหลาบ
ศิริจินดา