ทานตะวันร่ายเวทมนตร์ฟื้นเมืองร้างขึ้นมาจากความตาย
11 มีนาคม พ.ศ. 2554 คือวันที่เกิดแผ่นดินไหวและภัยพิบัติสุดโหดร้ายจากธรรมชาติอย่าง ‘สึนามิ’ ขึ้นที่ภูมิภาคโทโฮขุ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแผ่นดินไหวความรุนแรง 9 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นในคราวนั้น สร้างคลื่นมฤตยูที่สูงที่สุดถึงราว 40.5 เมตร ทำให้ตำแหน่งของเกาะฮอนชูทั้งเกาะขยับออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2.4 เมตร และทำให้แกนหมุนของโลกใบนี้เคลื่อนที่ไปนับสิบเซ็น นับเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในระดับ Top 5 ที่เคยเกิดขึ้นในโลก และมันคือแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น
ภัยพิบัติระดับโลกครั้งนั้น สร้างความย่อยยับแก่ผู้คนใน 18 จังหวัดของแดนอาทิตย์อุทัย มีประชาชนถูกคร่าชีวิตไปกว่า 18,000 คน หนึ่งในความเสียหายหนักที่เกิดขึ้นคือความเสียหายที่เกิดกับโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หลายแห่ง ที่รุนแรงที่สุดคือการเกิดระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ซึ่งเป็นสาเหตุให้กัมมันตภาพรังสีรั่วไหล ทำให้พื้นที่บริเวณรอบโรงไฟฟ้ามีกัมมันตภาพรังสีเพิ่มสูงขึ้นอีก 8 เท่า ผู้คนกว่า 300,000 คน ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานออกไปเพื่อความปลอดภัย เกิดการปนเปื้อนมากมายในอากาศ พื้นดิน ท้องทะเล และอาหาร ซึ่งนั่นแลดูจะเป็นมหันตภัยที่ไร้ความหวังว่าจะกอบกู้ให้ดีขึ้นได้ในเวลาแค่ไม่กี่ปี
ท่ามกลางบรรยากาศห่อเหี่ยวหมองเศร้าซึ่งครอบคลุมอยู่ทั่วไป ดอกทานตะวันกลายเป็นฮีโร่ที่ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากคราวนี้ เนื่องจากเคยมีผลการวิจัยว่าทานตะวันคือพืชซึ่งมีความสามารถในการดูดซับสารตะกั่วและสารพิษในดินได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น เมื่อคราวเกิดวินาศภัยกับโรงงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลในปี ค.ศ.1986 นั้น ก็ได้มีการนำทานตะวันไปปลูกไว้ในพื้นที่โดยรอบ เนื่องจากพวกมันจะดูดซับสารซีเซียม (Cesium) ซึ่งเป็นสารกัมมันตภาพรังสีเอาไว้เป็นอาหารแทนธาตุโพแทสเซียม
ว่ากันว่า หากปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยาตัวเองเพียงอย่างเดียวนั้น กระบวนการขจัดสารกัมมันตภาพรังสีออกจากพื้นดินอาจต้องใช้เวลายาวนานถึง 30 ปี ในขณะที่ดอกทานตะวันช่วยย่นระยะเวลาในกระบวนการนั้นลงหลายสิบเท่า ด้วยการช่วยดูดซึมสารพิษจากดินออกไปถึง 95 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อพวกมันทำหน้าที่สำคัญของตัวเองสำเร็จ จะมีการใช้แบคทีเรียในการย่อยสลายต้นทานตะวันเหล่านี้ เพื่อไม่ให้สารพิษแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นได้เหมือนการทำลายด้วยวิธีอื่น
เมื่อความลับเรื่องความสามารถของดอกทานตะวันเริ่มถูกเผยแพร่ออกไป พระภิกษุนาม Koyu Abe จึงเริ่มการแจกจ่ายเมล็ดทานตะวันให้แก่เหล่าอาสาสมัคร ที่จะมาร่วมกันปลูกดอกทานตะวันในพื้นที่ซึ่งกลายเป็นดินแดนรกร้างในเมืองฟุกุชิมะ และในภายหลังจึงเกิดเป็นโครงการ Fukushima Sunflower Foster Parent Project ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้คนจากทั่วประเทศญี่ปุ่นได้ลงมือปลูกดอกทานตะวัน จากนั้นจึงเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์แล้วส่งไปยังฟุกุชิมะ เพื่อให้อาสาสมัครนำไปใช้ปลูกในพื้นที่โดยรอบ โดยในปีเดียวกันนั้นพวกเขาสามารถให้กำเนิดดอกทานตะวันในเมืองฟุกุชิมะได้มากกว่า 8,000,000 ดอก
และแม้ว่าจะมีบางกระแสวิจัยออกมาให้ความเห็นว่า ความจริงแล้วสารกัมมันตภาพที่ปนเปื้อนมักจะตกอยู่บริเวณหน้าดินมากกว่าเบื้องล่าง ซึ่งรากของต้นทานตะวันที่จะหยั่งลึกถึงเกือบหนึ่งเมตรนั้นอยู่ลึกเกินไป จึงอาจดูดซับสารพิษได้ไม่มากพอ การลอกผิวหน้าดินออกประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร จึงเป็นวิธีช่วยลดปริมาณสารพิษในผืนดินได้มากและเร็วกว่าวิธีการปลูกดอกไม้ แน่ละว่านั่นคือความเป็นจริง หากแต่คุณประโยชน์หนึ่งที่ดอกทานตะวันสามารถทำได้อย่างไม่มีวิธีการไหนเทียบ ก็คือการส่งผ่านความสดชื่นและคืนความหวัง ไปยังผู้คนที่กำลังตกอยู่ในภาวะจิตใจหมองเศร้าจากความสูญเสีย
จากผืนดินซึ่งกลายเป็นเมืองร้าง ดอกทานตะวันสีเหลืองสว่างที่ตั้งตรงงามสง่า ได้สร้างพื้นที่เหล่านั้นให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ทุ่งทานตะวันที่บานสะพรั่งสุดลูกหูลูกตา ได้ร่ายเวทย์มนตร์ให้อาณาบริเวณแห่งความตายกลับกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง พวกมันชุบชูและเยียวยาหัวใจของบรรดาผู้คนที่สูญเสียให้เริ่มรู้สึกถึงความสุขในชีวิตได้อีกครั้ง
ฟุกุชิมะกลับกลายเป็นเมืองซึ่งเริ่มดึงดูดให้ผู้คนคืนกลับมาลงหลักปักฐาน และนั่นคือพลังแฝงแห่งดอกไม้ที่ไม่มีอะไรทำได้เทียมเท่า ไม่ต้องสงสัยเลยละว่าทำไมเราถึงรักพวกมัน