แคทลียาคือกล้วยไม้ที่ได้รับความนิยมนํามาปลูกเลี้ยงกันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ เนื่องจากเป็นกล้วยไม้มีดอกขนาดใหญ่และสีสันสวยงามที่สุด บางชนิดมีกลิ่นหอม โดยยกย่อง ‘ดอกแคทลียา’ ให้เป็น ‘ราชินีแห่งกล้วยไม้’ และคือสัญลักษณ์สากลของบรรดาเหล่ากล้วยไม้ทั้งมวล
แคทลียาซึ่งพบเห็นในธรรมชาติมีราว 53 ชนิด ล้วนเป็นกล้วยไม้มีถินกําเนิดอยู่บนทวีปอเมริกา เม็กซิโก ล่องลงจนถึงประเทศแถบอเมริกากลาง และใต้ แคทลียานั้นบํารุงง่าย เจริญงอกงามได้แทบทุกสภาพแวดล้อมทุกแห่งในเขตอบอุ่นร้อนชื้น ทําให้กล้วยไม้ในสกุลนี้กระจายเผ่าพันธุ์ทั่วโลก ปัจจุบันนอกจากแคทลียาสายพันธุ์แท้แล้ว มนุษย์ยังสามารถผสมพันธุ์แคทลียาลูกผสมอีกมากมาย เลี้ยงง่าย โตเร็ว และมีดอกสวยงามแปลกตามากยิ่งขึ้น ทําให้กล้วยไม้สกุลนี้สร้างมูลค่าทางด้านการผลิตเพื่อการค้า ซึ่งสร้างรายได้อย่างมหาศาล
แม้ ‘แคทลียา’ จะฟังเหมือนชื่อสุภาพสตรีสักคนเพียงใด แต่ข้อเท็จจริงอันเป็นต้นธารของนามนี้ก็คือ ‘Sir William Cattley’ นักพฤกษศาสตร์ชาวสก็อตแลนด์ ผู้เฝ้าเพียรประคบประหงมดอกไม้ป่าจากดินแดนไกลโพ้น จนออกดอกอวดโฉมงดงามสะพรั่งกลางสวน ‘Glasgow Botanic Gardens’ บุปผาชนรุ่นหลังจึงหยิบเอาชื่อสกุล ‘Cattley’ มาแปลงเป็น ‘Cattleya’ ตามตําราละติน เพื่ออํานวยเกียรติแด่ท่านตั้งแต่ พ.ศ. 2367 หรือเกือบสองศตวรรษสืบล่วงมา
กล้วยไม้สกุลแคทลียานําเข้ามาปลูกบนผืนแผ่นดินไทยครั้งแรกในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 โดย ฯพณฯ ‘เฮนรี อาลาบาศเตอร์’ (Henry Alabaster/22 พฤษภาคม พ.ศ. 2379 – 8 สิงหาคม พ.ศ. 2427) รองกงสุลชาวอังกฤษ ประจําสยามประเทศ (ต้นตระกูล ‘เศวตศิลา’) โดยเริมปลูกในพระราชอุทยานสราญรมย์ (ตรงข้ามพระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันออก ณ วันนี้) แต่ครั้ง พ.ศ. 2417 จวบปัจจุบัน
ชื่อ ‘แคทลียา – Cattleya’ สําหรับชาวสเปนมักได้รับความชื่นชอบและนํามาตั้งชื่อเด็กผู้หญิงแฝงความหมายอันไพเราะ และแสนหวังดีว่า ‘พรบริสุทธิ’
ชาวยุโรปมักมอบดอกแคทลียาแก่กันเพื่อแสดงถึงความชื่นชม หรือนิยมด้วยงดงาม รวมถึงความสามารถของผู้รับ บ้างก็ใช้ในโอกาสแสดงความยินดีหรือแสดงความเคารพเลื่อมใส – น้อมศรัทธากับความสําเร็จแห่งผู้นั้น
RakDok