ตราบใดที่ดอกไม้ยังไม่หมดไปจากโลก-คุณก็ไม่อาจกักขังเสรีภาพได้
เสรีภาพก็เหมือนดอกไม้, ต่อให้คุณขังมันไว้ในเรือนกระจก ยามเมื่อสายลมพัดมาละอองเกสรก็พร้อมจะปลิวไปผลิดอกออกหน่อบนผืนดินผืนใหม่ ตราบใดที่ดอกไม้ยังไม่หมดไปจากโลก-คุณก็ไม่อาจกักขังเสรีภาพได้อย่างแท้จริง
ย้อนกลับไปในปี 2014 มีงานนิทรรศการศิลปะงานหนึ่งที่พูดถึงการต่อสู้เพื่อเสรีภาพไว้ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งคอนเซปต์ สถานที่ กลวิธีในการหยิบองค์ประกอบศิลป์มาใช้ ไปจนถึงตัวผู้สร้างผลงานเองที่ดึงเอาความ ‘ทรงพลัง’ ของออกมาได้โดยไม่ต้องอธิบายให้มากความ
งานนิทรรศการนั้นมีชื่อว่า @Large เป็นการจัดแสดงงานศิลปะเพื่อเผยแพร่แนวคิดของผู้เป็นศิลปิน‘อ้ายเว่ยเว่ย’ ที่ว่า “เจตจำนงของศิลปะ คือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ” มันไม่ได้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ หรือศูนย์จัดแสดงนิทรรศการทั่วไป หากแต่ใช้พื้นที่บน ‘เกาะอัลคาทราซ’ เป็นฉากหลัง
องค์ประกอบที่ทำให้งานนี้ควรค่าแก่การหยิบยกมาพูดถึงมีด้วยกัน 3 ประการคือ ศิลปิน สถานที่ และตัวนิทรรศการเอง
อัลคาทราซ เกาะแห่งการจองจำในประวัติศาสตร์
เกาะอัลคาทราซเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณกลางอ่าวซานฟรานซิสโก ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยความที่แวดล้อมไปด้วยกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก ทั้งยังตั้งอยู่โดดเดี่ยวห่างไกลจากชายฝั่ง ในช่วงปี 1861 เกาะจึงถูกใช้เป็นที่คุมขังนักโทษจากเหตุการณ์สงครามการเมืองในอเมริกา ก่อนที่ต่อมาจะมีการสร้างเรือนจำขึ้นเพื่อรองรับอาชญากรตัวเอ้ของประเทศ
ว่ากันว่าอัลคาทราซเป็นหนึ่งในคุกที่มีการคุ้มกันหนาแน่นที่สุดในโลก โดยมีอัตราการการหลบหนีรอดจากคุกเป็นศูนย์ แม้ในปัจจุบันเกาะแห่งนี้จะไม่ได้ทำหน้าที่คุมขังนักโทษอีกต่อไป หากแต่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของรัฐ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอัลคาทราซได้กลายเป็นอดีตสถานที่แห่งการจองจำที่โหดติดอันดับในใจผู้คนไปเรียบร้อยแล้ว
นิทรรศการ @Large แด่เสรีภาพของมวลมนุษยชาติ
อ้ายเว่ยเว่ยได้ออกแบบงานศิลปะที่สะท้อนถึงปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางความคิดของผู้คนทั่วโลก เล่าผ่านผลงาน 7 ชิ้น จัดแสดงกระจายไปในบริเวณพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของเกาะ
แต่ชิ้นที่เราอยากหยิบมาเล่าถึงเป็นพิเศษก็คือ Blossom หรืองานที่อ้ายเว่ยเว่ยเติมเต็มห้องน้ำ อ่างอาบน้ำ และอ่างล้างมือของนักโทษด้วยดอกไม้เซรามิก เพื่อแสดงถึงการงอกงามของดอกไม้แม้ในพื้นที่ที่ปราศจากเสรีภาพ และเปรียบเสมือนการส่งช่อดอกไม้ให้กับผู้ป่วย ที่น่าสนใจก็คือมีผู้ตีความว่างานชิ้นนี้มีนัยยะเสียดสีถึงแคมเปญ ร้อยบุปผา (Hundred Flowers) ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนในปี 1956 ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษา และปัญญาชนในสังคมออกมาวิพากษ์การทำงานของรัฐบาล ก่อนที่สุดท้ายคนทั้งหมดจะถูกจับเข้าคุก หรือเนรเทศไปใช้แรงงานในพื้นที่ห่างไกลในที่สุด
ด้วยความที่ในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกยังคงมีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกจับ หรือถูกจำกัดเสรีภาพอยู่เนืองๆ งานนิทรรศการของอ้ายเว่ยเว่ยชิ้นนี้จึงยังคงทรงพลัง และเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าแม้เวลาจะผ่านไปนานนับสิบ นับร้อยปี แต่ปัญหาเรื่องการลิดรอนเสรีภาพทางการเมืองก็ยังไม่หมดสิ้นไปจากสังคม
อ้ายเว่ยเว่ย ศิลปินผู้ถ่ายทอดความเชื่อทางการเมืองผ่านศิลปะ
องค์ประกอบสุดท้ายที่ทำให้งานนิทรรศการชิ้นนี้ไปได้ไกลกว่าแค่การแสดงงานศิลปะก็คือตัวศิลปินผู้สร้างผลงานเอง อ้ายเว่ยเว่ยคือศิลปินนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลเป็นอย่างมากคนหนึ่งของจีน งานศิลปะของเขาทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนอย่างเผ็ดร้อน ต่อนโยบายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง
ในปี 2011 อ้ายเว่ยเว่ยถูกจับกุมในฐานะนักโทษการเมือง และถูกกักตัวไว้เป็นเวลา 81 วัน ก่อนที่จะถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศจีนนับแต่นั้น อย่างไรก็ดีอ้ายเว่ยเว่ยใช้โอกาสนี้ในการแสดงออกให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ต่อให้รัฐบาลจะสามารถจำกัดสิทธิการเดินทางของเขาได้ แต่ไม่มีวันที่จะจำกัดเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดของมนุษย์
เขาจึงใช้สตูดิโอของตัวเองในจีนเป็นฐานทัพในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยอาศัยความช่วยเหลือของอาสาสมัคร และองค์กรที่มีส่วนร่วมในผลงานชิ้นนี้ ทำให้นิทรรศการที่อยู่อีกซีกหนึ่งของโลกเกิดขึ้นได้โดยที่เขาไม่ได้ก้าวเท้าออกจากประเทศแม้แต่ก้าวเดียว
งานนิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นเสมือนหลักฐานชั้นดีที่ช่วยสนับสนุนคำพูดของอ้ายเว่ยเว่ยซึ่งเขาเคยพูดเอาไว้เกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพว่า
“ความเข้าใจผิดของการปกครองระบอบเผด็จการก็คือ ความคิดที่ว่าคุณสามารถคุมขังเสรีภาพได้ แต่ความจริงก็คือเมื่อคุณคิดจำกัดเสรีภาพ เสรีภาพก็จะโบยบินไปเกาะที่ขอบหน้าต่าง”
คุณอาจกักขังเสรีภาพทางการแสดงออกของผู้คนได้ แต่คุณกักขังเสรีภาพทางความคิดของพวกเขาไหวหรือ?
อ้างอิง
https://www.for-site.org/project/ai-weiwei-alcatraz/
https://www.anothermag.com/art-photography/gallery/4105/a-floral-bathroom-in-alcatraz-by-ai-weiwei/0
https://www.thisiscolossal.com/2014/11/ai-weiwei-alcatraz/