ภาพวิวจากดาดฟ้าในอนาคตของเมืองอาจไม่ใช่ตึกสูง แต่เป็นผัก
ในยุคที่โลกร้อน บ้านเมืองขยายตัว ความเจริญกำลังคืบคลานเติบโต คาดว่าประชากรทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 9.1 ล้านคนภายในปี 2050 กำลังการผลิตอาหารในอนาคตต้องเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับหลายล้านหลังคาเรือน อย่างไรก็ตามจำนวนประชากรต้นไม้กลับสวนทางกับจำนวนมนุษย์ที่ลืมตาดูโลก พร้อมกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ที่ดินทำการเกษตรและพื้นที่สีเขียวลดน้อยลง เมืองเกิดวิกฤติทางอาหารที่ผลิตพืชผักเองไม่ได้ ยังไม่นับปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ คุณภาพดิน และระยะทางไกลในการขนส่งอาหารไปเมืองใหญ่อีกสารพัด
โบราณกล่าวไว้ว่า หากมีปัญหา ให้เงยหน้ามองฟ้า เพราะทางออกของปัญหาเหล่านี้อาจอยู่ใกล้แค่เส้นผมบังภูเขา นั่นคือ การปลูกพืชผักบนดาดฟ้าบ้านเรานี่เอง ดาดฟ้าเป็นส่วนที่กักเก็บความร้อนของอาคารเพราะได้รับแสงอาทิตย์โดยตรง ทำให้เมืองมีพลังงานความร้อนสะสม การปลูกต้นไม้บนดาดฟ้า นอกจากจะช่วยลดความร้อนและลดมลภาวะทางอากาศแล้ว ยังช่วยแก้วิกฤติทางอาหารในเมือง ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งเพราะปลูกพืชและปรุงอาหารภายในเมืองเองได้
Rooftop Farm จึงเป็นตัวเลือกที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ แม้แต่นักปลูกผักมือสมัครเล่น เจ้าของร้านอาหาร โรงเรียน ก็อยากปลูกผักให้งอกงามบนดาดฟ้า ซึ่งฟาร์มแต่ละที่ก็ใช้เทคโนโลยีและมีความตั้งใจในการปลูกที่แตกต่างกันออกไป
ใครหิวแล้ว ก่อนแวะกินสลัดสักชาม แวะไปดู Rooftop Farm ของแต่ละที่กันดีกว่า
เริ่มที่ร้านอาหาร Le Perchoir ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ห่างจากหอไอเฟลในระยะเท้าเดินเพียง 15 นาทีเท่านั้น ที่นี่ใช้เทคโนโลยีการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน (aeroponics) ให้แร่ธาตุกับพืชด้วยสารละลายแร่ธาตุที่เป็นละอองน้ำทางรากแทนการใช้ดิน ซึ่งเป็นวิธีปลูกพืชแนวตั้งในร่มที่เหมาะกับประเทศเมืองหนาวและช่วยลดการใช้น้ำไปได้มาก ด้วยพื้นที่ขนาดสองสนามฟุตบอล ฟาร์มบนดาดฟ้านี้สามารถผลิตผักผลไม้ได้กว่า 30 พันธุ์ ในปริมาณมากถึง 2,000 ปอนด์ต่อวัน และส่งให้ 20 ตลาดในเมือง
ส่วน Sky Vegetables ที่อเมริกาใช้ระบบที่แตกต่างออกไป คือ hydroponic การปลูกพืชแบบให้รากแช่อยู่ในน้ำโดยตั้งค่าน้ำให้เหมาะสมต่อพืช ใช้ระบบหมุนเวียนจากน้ำฝนในการดูแลพืช ไม่ใช้สารเคมีในการปลูก สามารถปลูกผักได้หลากหลายทั้งกะหล่ำปลี ผักสวิสชาร์ด สมุนไพร เบซิล เพื่อส่งให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น เนื่องจากอยู่ห่างจากเมืองแมนฮัตตันเพียง 20 นาที ทำให้ช่วยลด food miles (ระยะทางการขนส่งอาหารเข้าเมือง) จากหลายพันไมล์เหลือแค่ไม่ถึง 50 ไมล์ และยังมีแผนกระจายโมเดลการทำ Rooftop Farm ให้เกิด sky garden หรือสวนลอยฟ้าทั่วนิวยอร์กและเมืองอื่นๆด้วย
การทำฟาร์มในเมืองให้ยั่งยืน ไม่ใช่การจับต้นไม้มาแปะไว้กับอาคารดื้อๆ หลายที่มีการสร้างโดยเลียนแบบธรรมชาติ อย่างเช่น อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตในไทยนี่เอง ที่สร้างโดยเลียนแบบหลักของนาขั้นบันได การออกแบบเป็นทรงคล้ายภูเขา มีความลาดชันคล้ายขั้นบันไดซึ่งช่วยลดการไหลบ่าของน้ำ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดน้ำท่วมได้ เมื่อฝนตก น้ำฝนจะถูกกักเก็บตามนาขั้นบันไดแต่ละแปลง ก่อนไหลสู่สระน้ำรอบอาคาร เมื่ออาคารมีพื้นที่สีเขียวเยอะ อุณหภูมิภายในอาคารก็จะต่ำลง ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าลดตามไปด้วย
นอกจากฟาร์มสเกลใหญ่แล้ว ในเมืองอย่างนิวยอร์กเริ่มมีต้นไม้ผลุบโผล่บนดาดฟ้า โดยเฉพาะย่าน East Village และ West Village ที่คนเมืองเริ่มอินกับการปลูกต้นไม้บนที่สูง จนกลายเป็นคอมมูนิตี้ อาจคล้ายกับที่คนไทยเริ่มฮิตปลูกต้นไม้ indoor ในช่วงนี้
โรงเรียน The Fifth Street Farm ในย่านนั้น เป็นโรงเรียนที่ใช้การปลูกผักบนดาดฟ้าเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กในเมืองให้เข้าใจเรื่องความยั่งยืนและความสำคัญของพืชผักต่อระบบห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ ส่งเสริมให้เด็กได้สัมผัสประสบการณ์การปลูกพืชและทานผักสดที่ปลูกด้วยตัวเอง ช่วยให้เด็กเข้าใจประโยชน์ของการเลือกทานอาหารที่ถูกตามหลักโภชนาการ พร้อมสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ควบคู่การเรียนรู้ธรรมชาติไปด้วย
สำหรับร้านอาหารที่มี Rooftop Farm ไม่ต้องสงสัยเลยว่าได้ประโยชน์จากการใช้ผักสดมาทำอาหารให้ลูกค้าไปเต็มๆ
กลายเป็นร้านที่เป็นทั้งคอนเซ็ปต์ farm to table และ roof to table ไปพร้อมกัน ร้าน Rosemary’s เป็นร้านที่ปลูกพืชสมุนไพรทั้งเบซิล มิ้นท์ โรสแมรี่ ไทม์ ใบเสจ ในพื้นที่ 1,000 ตารางฟุตบนดาดฟ้า ทางร้านบอกว่าในช่วงฤดูร้อน การมีฟาร์มอยู่ข้างบนร้านทำให้สามารถใช้ผักเบซิลที่ปลูกเองทั้งหมดจากหลังคาโดยไม่ต้องพึ่งที่อื่นเลย
แม้กระทั่งคนเมืองทั่วไปในย่าน ก็มีเครือข่าย Urban Rooftop Farms ที่สอนเพื่อนบ้านให้ปลูกต้นไม้ง่ายๆบนดาดฟ้าอย่างต้นพีช แอปเปิล สตรอว์เบอร์รี มะเขือเทศ แตงกวา ถั่ว แตงโม ข้าวโพด โดยการทำระบบฟาร์มอาจไม่ยิ่งใหญ่เท่าฟาร์มขนาดใหญ่ แต่มีการสอนโดยคำนึงถึงระบบลม แสง ความร้อนและฝนบนดาดฟ้าซึ่งทำได้ไม่ยาก
หากวาร์ปไปที่กว่างซีจ้วง ประเทศจีน ชาวบ้านทั่วไปก็นิยมเปลี่ยนหลังคาให้เป็นทั้งแปลงผัก นาข้าว นาบัว ที่ปลูกง่าย ปรุงง่าย นำมาทำเป็นอาหารเองได้ง่ายด้วยเช่นกัน
การทำ Rooftop Farm ไม่เพียงเปลี่ยนพื้นที่ไม่ได้ใช้สอยให้เป็นประโยชน์เท่านั้น แต่ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์กับคนในบ้านหรือชุมชนที่มีความสนใจแบบเดียวกัน สร้างความยั่งยืนให้เมืองได้แบบง่ายๆ ถ้ายังติดภาพว่าวิวของ Rooftop คือตึกสูงเท่านั้น อาจจะ Out! ไปแล้ว เพราะวิวของ Rooftop ในยุคนี้และในอนาคต อาจเปลี่ยนไปเป็นผักเสียแล้ว
รตา มนตรีวัต